“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 165 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไทยมีทรัพยากรเพียงพอดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 สำรองไว้ในภูมิภาคและส่วนกลาง ล่าสุดรัฐบาลอนุมัติงบเกือบ 2,000 ล้านบาท จัดซื้อเพิ่ม อาทิ Surgical mask 60 ล้านชิ้น ขอความร่วมมือประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคของจังหวัดตนเองอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ งดการเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่มีเหตุจำเป็น
วันนี้ (2 มกราคม 2564) ที่ ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย ความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยนพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 216 ราย ติดเชื้อในประเทศ 214 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกัน 2 ราย รักษาหายเพิ่ม 26 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 7,163 ราย หายป่วยรวม 4,299 ราย ยังอยู่ระหว่างการรักษา 3,016 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 11 ราย เสียชีวิตรวม 64 ราย ซึ่งอัตราการตายอยู่ที่ร้อยละ 0.88
“ภาพรวมยังคงมีการระบาดอยู่ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการติดเชื้อรอบใหม่ สาเหตุจากการลักลอบเข้าประเทศ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะ จ.สมุทรสาคร บ่อนการพนันที่ จ.ระยอง ชลบุรี และภาคตะวันออก ซึ่งพฤติกรรมของผู้เล่นการพนันจะไปเล่นตามบ่อนต่างๆ ทำให้เกิดการติดเชื้อและยากต่อการควบคุม ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อกระจายใน 53 จังหวัด ต้องมีมาตรการที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคมให้น้อยที่สุด เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดง 28 จังหวัด ไม่ได้ห้ามการสัญจรเดินทาง แต่การเดินทางข้ามจังหวัดต้องมีมาตรการอย่างเคร่งครัด ส่วนพื้นที่ควบคุมสีส้ม มาตรการเป็นเข็มขัด Buffer Zone เพื่อกันการแพร่เชื้อไปอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังสูงสีเหลือง การเดินทางอาจไม่คล่องตัวบ้างแต่จะสามารถควบคุมเชื้อได้ ”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีทรัพยากรเพียงพอดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ได้สะสมไว้ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด ทั้งที่ภูมิภาคและส่วนกลางเก็บไว้ที่องค์การเภสัชกรรม ขณะนี้มีหน้ากาก N95 รวม 2,097,150 ชิ้น หน้ากาก Surgical mask 143,600 ชิ้น, Coverall & Gown 1,044,370 ชิ้น, ยาฟลาวิพิราเวียร์ 472,400 เม็ด และพยายามจะจัดซื้อเพิ่ม ล่าสุดรัฐบาลได้ให้งบจัดหาเพิ่มอีก 1,927 ล้านบาท ซื้อหน้ากาก N95 500,000ชิ้น, Surgical Mask 60,000,000 ชิ้น, Coverall/Gown 500,000ชิ้น, ยาฟลาวิพิราเวียร์ 100,000 เม็ด ให้องค์การเภสัชกรรมจัดซื้อล่วงหน้าทันที ส่วนเตียงและเครื่องช่วยหายใจยังมีสำรองอีกมาก อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ประมาท ได้ติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อ และทรัพยากรที่มีอยู่เสมอ
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 รายล่าสุด เป็นหญิงไทยอายุ 47 ปี จาก จ.ชลบุรี เสียชีวิตก่อนเดินทางถึงโรงพยาบาล มีโรคประจำตัวคือเบาหวาน มีประวัติเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อจากบ่อนการพนัน ข้อสังเกตสำคัญ คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ และผู้สูงอายุ เมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง เมื่อสงสัยหรือรู้ตัวว่าป่วยให้ติดต่อบุคลากรทางการแพทย์หรือโรงพยาบาลเพื่อรับคำแนะนำทันที เนื่องจากการไปโรงพยาบาลล่าช้าจะส่งผลต่ออาการอาจรุนแรงได้
สำหรับ จ.สมุทรสาคร วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 55 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,860 ราย โดยได้เปิดโรงพยาบาลสนามรองรับชาวเมียนมาที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ส่วนคนไทยที่อาการไม่หนักหรือปานกลางได้จัดระบบการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่ จ.ระยอง ซึ่งพบการระบาดเริ่มต้นที่บ่อนการพนัน กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ การพบผู้ติดเชื้อ ในสถานบันเทิงย่านปิ่นเกล้า ทำให้เริ่มพบผู้ติดเชื้อในคนไทยและสมาชิกในครอบครัว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการอย่างเข้มงวด รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้ โดยในวันนี้ได้ส่งข้อเสนอไปยัง ศปก.สธ. ให้เพิ่มความเข้มข้นมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด ช่วงหลังปีใหม่ โดยจัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ชุมพร ระนอง กทม. มีมาตรการ เช่น การเปิด-ปิดสถานประกอบการ หรือปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ร้านอาหาร/ตลาดให้จำหน่ายเป็นแบบซื้อกลับบ้าน ค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก, ขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด, สถานศึกษาหยุดการเรียนการสอนหรือใช้รูปแบบออนไลน์, ให้มีการทำงานแบบ Work from Home, มาตรการควบคุมการเดินทาง ผู้ที่เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด, เร่งการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและสอบสวนโรคในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและพื้นที่เชื่อมโยง
ส่วนจังหวัดที่เป็นพื้นที่ (สีส้ม) จะมีมาตรการคล้ายคลึงกันแต่ความเข้มข้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณาให้เหมาะสมกับจังหวัดของตน ส่วนพื้นที่ระวังสูงสุด (สีเหลือง) มาตรการจะลดหลั่นลงไป แต่พื้นฐานคือต้องเฝ้าระวังอย่างสูงสุดเช่นเดียวกัน ซึ่งมาตรการนี้จะมีผลเป็นเวลา 4 สัปดาห์ หากนายกรัฐมนตรี เห็นชอบจะมีการดำเนินงานช่วงวันที่ 4 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2564
“ขอเน้นย้ำมาตรการ DMHTT เว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ การคัดกรอง และการสแกนไทยชนะ เป็นสิ่งที่อยากให้คนไทยทุกคนร่วมมือร่วมใจ” นายแพทย์โอภาสกล่าว
ด้านนพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้สำรวจพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยของประชาชน 5 ครั้ง โดยผลสำรวจครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ถึง 2 มกราคม 2564 พบสวมหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 93.3 ส่วนผลสำรวจการใช้บริการขนส่งสาธารณะและสวมหน้ากากตลอดเวลาอยู่ที่ร้อยละ 73.4 ซึ่งค่อนข้างน้อย ดังนั้น เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงขอให้ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะหรืออาคารสถานที่ ต้องจัดให้มีการคัดกรองวัดไข้ ทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการ มีจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ให้บริการทั้งในอาคารและบนรถโดยสาร จัดระยะห่างไม่ให้เกิดความแออัด มีป้ายประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
ในส่วนอาคารสถานที่ ให้ทำความสะอาดทุกวัน เน้นบริเวณพื้นผิวที่มีผู้สัมผัสร่วมจำนวนมากให้เพิ่มความถี่อย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง เช่น เคาท์เตอร์จำหน่ายตั๋ว ปุ่มกดตู้จำหน่ายเครื่องดื่ม ลูกบิดประตู ราวบันได รวมถึงห้องน้ำ ก่อนและหลังการให้บริการให้เปิดหน้าต่าง เพื่อระบายอากาศในรถ สำหรับผู้ปฏิบัติงานต้องดูแลสุขลักษณะส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ป้องกันตนเอง ส่วนการจำหน่ายอาหารในบริเวณสถานีขนส่งสาธารณะนั้น ผู้จำหน่ายอาหารต้องล้างมืออย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า โดยไม่จำเป็น มีที่คลุมอาหาร ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหาร หากมีอาการป่วย เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ ให้หยุดงานและพบแพทย์ทันที สำหรับผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะต้องปฏิบัติตามมาตรการของขนส่งอย่างเคร่งครัด โดยต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดรับประทานอาหารในรถ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หากพบว่าตนเอง มีไข้ ไอ จาม ควรงดการใช้บริการ
ในส่วนตลาดสดและร้านอาหาร มีแนวทางป้องกันดำเนินการใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบกิจการ ต้องจัดให้มีระบบการคัดกรองพนักงานหรือผู้ให้บริการและผู้มาใช้บริการ หากพบว่าป่วยงดให้บริการและไปพบแพทย์ กลุ่มที่ 2 ผู้สัมผัสอาหาร ให้มีการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ถ้าหน้ากากเปียกชื้นหรือสกปรกควรเปลี่ยนใหม่ทันที ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสอาหารทุกครั้ง ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร มีระบบการสั่งซื้ออาหาร จองโต๊ะนั่งรับประทานอาหารล่วงหน้า การชำระเงินแบบออนไลน์ มีอุปกรณ์สำหรับรับเงิน เป็นต้น กลุ่มที่ 3 ผู้ซื้อ/ผู้บริโภค ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนและ หลังการใช้บริการ รวมทั้งเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และในการเลือกซื้ออาหารสดไม่ควรใช้มือเปล่าหยิบจับอาหารโดยตรง ควรใส่ถุงมือหรือใช้ที่คีบที่ทางร้านเตรียมไว้ให้
************************************** 2 มกราคม 2564