“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 143 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขแจงความคืบหน้าผู้ติดเชื้อที่กระบี่เป็นชายชาวอินเดีย ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ 290 ราย เน้นการปฏิบัติตัวประชาชนยึดมาตรการสวมหน้ากากาอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ยังไม่พบการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เผยลดวันกักตัวผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงต่ำเหลือ 10 วันแต่ยังปลอดภัย
วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2563) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป และแพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา แถลงถึงความคืบหน้าความคืบหน้าผู้ติดเชื้อ โควิด 19 ในประเทศไทย 1 รายเป็นเพศชาย สัญชาติอินเดีย อายุ 37 ปี อาชีพพนักงานในร้านอาหาร จังหวัดกระบี่ ขณะนี้ผู้ป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาลกระบี่ อาการทั่วไปปกติ ไม่มีไข้ ไอเล็กน้อย
สำหรับผู้ป่วยรายนี้พบเชื้อจากการตรวจสุขภาพเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน (work permit) โดยได้ทำการตรวจ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลเอกชนและผลตรวจยืนยันของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 จังหวัดภูเก็ตพบเชื้อเช่นกัน แต่เนื่องจากพบเชื้อน้อยมากจึงตรวจทางห้องปฏิบัติการซ้ำครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ผลไม่พบเชื้อ และเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาภูมิคุ้มโควิด 19 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ผลตรวจ IgG เป็นบวก แต่ IgM เป็นลบ ซึ่งแสดงว่าได้รับเชื้อนานแล้ว และมีโอกาสต่ำมากที่จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยผู้ป่วยรายนี้ได้เดินทางไปยังจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ สุโขทัย ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2563
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ และกรมควบคุมโรค ส่งทีมสอบสวนโรคไปติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด 290 ราย(เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 79 รายและสัมผัสเสี่ยงต่ำ 211 ราย) ในส่วนผู้สัมผัสเสี่ยง ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ แบ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน 4 รายโดย 3 รายแรกได้แก่น้องชาย น้องสะใภ้และหลานสาวผลตรวจออกแล้วไม่พบเชื้อ โดยภรรยารอผลการตรวจ ผู้สัมผัสในชุมชน 5 ราย แพทย์พยาบาลในโรงพยาบาล 6 ราย และผู้ที่อยู่ในยานพาหนะ ได้แก่เครื่องบิน ซึ่งนับ2 แถวหน้า 2 แถวหลัง เรือเฟอร์รี่ ระหว่างเดินทาง 64 ราย และ ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ซึ่งไม่ได้ตรวจเชื้อแต่ให้สังเกตอาการ สำหรับการปฏิบัติตัวประชาชนที่สัมผัสใกล้ใช้ผู้ป่วยรายนี้ให้เฝ้าระวังตนเองสวมหน้ากากอนามมัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านพร้อมบอกประวัติ ขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม
ส่วนการลดการกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน อยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ จะเริ่มจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน โดยประเมินความเสี่ยงของประเทศต้นทางเปรียบเทียบกับประเทศไทย (Relative Risk Country) ซึ่งประเทศที่ความเสี่ยงใกล้เคียงกับไทย เช่น จีน มาเก๊า อัตราการติดเชื้อ 60 ต่อประชากร 1 ล้านคน ประเทศที่ความเสี่ยงน้อยกว่าประเทศไทย เช่น ไต้หวัน เวียดนาม มีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่า 60 ต่อประชากร 1 ล้านคน ถ้ามีต่างชาติจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำเข้ามาในไทย 1 ล้านคน การตรวจ RT-PCR ก่อนการเดินทางจะช่วยลดความเสี่ยงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อกักตัว 14 วันมีโอกาสเสี่ยงหลุดรอดหลังจากถูกกักกัน 0.3 คน ขณะที่การกักตัว 10 วันมีโอกาสเสี่ยงหลุดรอดหลังจากถูกกักกัน 1.5 คน แต่ใช้มาตรการเสริมป้องกันความเสี่ยง และจากการเก็บข้อมูลผลการตรวจหาเชื้อโรคโควิด 19 ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ในกลุ่มผู้เดินทางจากประเทศซูดานใต้ จำนวน 77 คน พบผู้ติดเชื้อ 17 คน โดยทั้งหมดตรวจพบในช่วงวันที่ 0-9 ของการกักตัว ดังนั้น การกักกันโรค 10 วัน จึงมีความเพียงพอ
เมื่อถึงประเทศไทย ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตรวจวัดอุณหภูมิ หากพบว่ามีไข้หรืออาการตามนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค จะแยกกักเพื่อสอบสวนโรค นำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อ หากไม่มีไข้ จะส่งเข้ารับการกักกันโรค 10 วัน โดยทำการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง คือ วันแรก และวันที่ 5 กับวันที่ 9 ของการกักตัว และตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกัน 2 ครั้ง ในวันแรก และวันที่ 9 หากผลเป็นบวกจะนำส่งรักษากับโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญา หากผลเป็นลบในวันที่ 10 จะประเมินและติดตั้งแอปพลิเคชัน ใช้ติดตามตัวและรายงานอาการป่วย ชี้แจงให้นักเดินทางทราบถึงการติดตามอาการต่ออีก 4 วัน ก่อนอนุญาตให้ออกจากสถานที่กักกันในวันที่ 11 โดยจัดทีมสนับสนุนติดตามผู้เดินทางอย่างใกล้ชิด เน้นการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง โดยผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการกักตัวและรักษาพยาบาล ซึ่งทั้งนี้จะต้องได้รับการอนุมัติจาก ศบค.ก่อน
ขอความร่วมมือประชาชนในจังหวัดต่างๆอย่าตื่นตระหนก กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคตามมาตรการอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามทุกคนยังคงต้องอยู่กับโควิด 19 ไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดเปรียบเสมือนวัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อคือ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง เข้ารับบริการสถานที่ต่างๆ ลงทะเบียนด้วย "ไทยชนะ" ทุกครั้ง
************************************* 8 พฤศจิกายน 2563
***********************************