ไทยเป็นเจ้าภาพร่วม จัดประชุมคณะกรรมการบริหารยูเอ็นเอดส์ สมัยที่ 22 เน้นประเด็นการสกัดกั้นการแพร่ระบาดรุนแรงของโรควัณโรค ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้ผู้ป่วยโรคเอดส์เสียชีวิตร้อยละ 12 ล่าสุดในปี 2550 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเอดส์กว่า 33 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 6,800 คน เสียชีวิตวันละ 5,700 คน และมีผู้ป่วยวัณโรค 14 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 1.7 ล้านคน โดยมีผู้ติดเชื้อเอดส์เสี่ยงติดเชื้อวัณโรคมากถึง 13 ล้านคน เช้าวันนี้ (23 เมษายน 2551) ที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จ.เชียงใหม่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอดส์ สมัยที่ 22 (22nd Meeting of UNAIDS Programme Coordinating Board :PCB) ระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน 2551 มีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ตัวแทนผู้ติดเชื้อ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ประเทศผู้บริจาค ผู้บริหารดับสูง นักวิชาการจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เข้าร่วมประชุมประมาณ 350 คน ประเด็นสำคัญการประชุมครั้งนี้คือ การร่วมกันพิจารณาปัญหาวัณโรคซึ่งรุนแรงขึ้นจากการระบาดของโรคเอดส์ ประเด็นเรื่องเพศที่กระทบต่อการแก้ปัญหาเอดส์ การประเมินผลครบรอบ 10 ปีองค์กรยูเอ็นเอดส์ และการสรรหาผู้อำนวยการใหญ่ขององค์กรยูเอ็นเอดส์ นายชวรัตน์ กล่าวว่า โรคเอดส์เป็นปัญหาร่วมกันของทั่วโลก ทุกประเทศต้องร่วมกันควบคุมและป้องกัน ขณะนี้โรคเอดส์เป็นสาเหตุการตายของประชากรโลก โดยเฉพาะแถบอัฟริกา พบผู้ป่วยเป็นเด็กและผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ยูเอ็นเอดส์รายงานว่าในปี 2550 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเอดส์ 33 ล้านกว่าคน ร้อยละ 50 เป็นเพศหญิง มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 6,800 คน และมีผู้ติดเชื้อแล้วเสียชีวิตวันละ 5,700 คน สาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย สำหรับประเทศไทย ผลงานการป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากปีละ 100,000 คน ในช่วงปี 2537 เหลือปีละ 10,000-15,000 คน เนื่องจากประสบความสำเร็จในโครงการถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยเฉลี่ยร้อยละ 87 นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์อย่างทั่วถึง ขณะนี้ผู้ป่วยโรคเอดส์ได้รับยาต้านไวรัส มากกว่า 130,000 คน ปัจจุบันมีผู้ใหญ่ติดเชื้อเอดส์สะสมประมาณ 1.1 ล้านราย ยังมีชีวิตอยู่ประมาณร้อยละ 50 แต่กลุ่มวัยที่น่าเป็นห่วงในสังคมปัจจุบันคือ เยาวชน พบว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อเอดส์มากขึ้น เช่น มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร โดยไม่มีการป้องกัน ซึ่งพบว่าอัตราการติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น กลุ่มแม่บ้านพบว่าติดเชื้อจากสามีร้อยละ 36 และกลุ่มชายรักชายร้อยละ 24 นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า ในกลุ่มของผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ จะมีปัญหาระบบภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป จึงมักติดเชื้อง่าย โรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบมากที่สุดคือ วัณโรคปอด พบร้อยละ 29 ซึ่งปัญหานี้ทุกประเทศทั่วโลกเผชิญเหมือนกัน แนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ โดยวัณโรคเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสียชีวิตร้อยละ 12 ล่าสุดในปี 2550 ทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรค 14 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอีกประมาณ 2,000 ล้านคน โดยมีผู้ติดเชื้อเอดส์ทั่วโลกเสี่ยงติดเชื้อวัณโรคมากถึง 13 ล้านคน ในส่วนของไทยจัดเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง คาดว่าน่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมด 125,000 ราย โดยเป็นผู้ป่วยใหม่ 90,000 ราย และคาดว่าผู้ป่วยวัณโรคประมาณร้อยละ 11 ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย และผู้ป่วยเอดส์ป่วยเป็นวัณโรคร้อยละ 29 กระทรวงสาธารณสุขไทยจึงมีนโยบายผสมผสานการดูแลผู้ป่วยวัณโรคกับโรคเอดส์ด้วยกัน อนึ่งในการประชุมคณะกรรมการบริหารยูเอ็นเอดส์ครั้งนี้ นอกจากประเทศไทยจะมีโอกาสได้ร่วมประชุมแก้ไขปัญหาในเรื่องของวัณโรคด้วยแล้ว ไทยยังได้จัดเตรียมสถานที่ดูงานของผู้เข้าร่วมประชุมในจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 22 เมษายน ทั้งหมด 8 แห่ง ซึ่งประสบผลสำเร็จในการดูแลผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ ได้แก่ 1.รพ.สันป่าตอง ในเรื่องการบูรณาการระบบการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอดส์กับวัณโรคและการใช้ธรรมะบำบัดรักษาจิตใจของผู้ป่วย ระบบการดูแลผู้ป่วยในชุมชนที่ตำบลสันป่าตองและที่วัดหัวริน 2.ดูงานระบบการดูแลสุขภาพของรพ.ส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 3.ดูงานระบบการดูแลสุขภาพของผู้อพยพที่รพ.สารภี 4.ดูงานที่บ้านสีม่วง กลุ่มชายรักชาย 5.ดูงานโครงการดูแลผู้ป่วยเอดส์และวัณโรคของรพ.แม่แตง และเทศบาลสันมหาพล 6.ดูงานที่ศูนย์บำบัดยาเสพติด อ.แม่ริม คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสารเสพติดฟ้าใหม่ และ Thai drug network 7.ระบบการดูแลผู้ป่วยผู้ติดเชื้อเอดส์ด้วยระบบการแพทย์ทางเลือก ที่รพ.แม่ออน และ 8.การดูแลเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีที่บ้านเด็กอ่อนเวียงพิงค์และที่รพ.นครพิงค์ สำหรับยูเอ็นเอดส์ เป็นองค์กรที่องค์การสหประชาชาติตั้งขึ้น คณะกรรมการบริหารฯ ประกอบด้วยสมาชิก 37 คน จากประเทศสมาชิกต่างๆ 22 ประเทศ องค์กรของสหประชาชาติ 10 แห่ง และองค์กรภาคประชาสังคมอีก 5 แห่ง คณะกรรมการมีการประชุมปีละ 2 ครั้ง เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนด้านวิชาการและด้านข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งผลักดันนโยบายด้านการควบคุมและแก้ปัญหาเอดส์แก่ทุกประเทศทั่วโลก เป็นเวทีให้ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ และประเทศผู้บริจาค ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานต่อสู้โรคเอดส์ โดยองค์กรยูเอ็นเอดส์มีสาขาทุกภูมิภาคทั่วโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สำหรับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารฯ จะพิจารณาเป็นปีๆ ไปตามความเหมาะสม มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 1 ปี ********************************* 23 เมษายน 2551


   
   


View 11    23/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ