รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2563

       สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ (อินเดีย 2 ราย, มาเลเซีย 1 ราย, บาห์เรน 1 ราย, ญี่ปุ่น 1 ราย) ทุกรายเข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้, สถานกักตัวที่รัฐกำหนด มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 2 ราย ทำให้ผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,390 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 94.43 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 141 ราย หรือร้อยละ 3.93 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 59 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,590 ราย

          สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจาก

      อินเดีย 2 ราย ทั้ง 2 ราย มีสัญชาติอินเดีย

    - รายที่ 1 เพศชาย อายุ 27 ปี อาชีพผู้ตรวจสอบบัญชี เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 25 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) ในกรุงเทพมหานคร พบเชื้อจากการตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 2 ตุลาคม 2563 (วันที่ 7 ของการกักตัว) เริ่มมีอาการเจ็บคอ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานครโดยก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อจากเที่ยวบินเดียวกัน 6 ราย ทุกรายได้เข้าสู่ระบบกักกันและส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล

  -รายที่ 2 เพศชาย อายุ 33 ปี อาชีพเชฟทำอาหาร เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 30 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) ในกรุงเทพมหานคร พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรกวันที่ 3 ตุลาคม 2563 (วันที่ 3 ของการกักตัว) รายนี้ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร

    มาเลเซีย 1 ราย เพศชาย อายุ 34 ปี สัญชาติโปรตุเกส อาชีพลูกเรือสายการบินเช่าเหมาลำ มาจากโปรตุเกส  ไปอินเดีย ไปมาเลเซีย ก่อนมาประเทศไทย ถึงประเทศไทยวันที่ 30 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) ในจังหวัดสมุทรปราการ พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรกวันที่ 3 ตุลาคม 2563 (วันที่ 3 ของการกักตัว) ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดสมุทรปราการ

    บาห์เรน 1 ราย เพศชาย อายุ 50 ปี สัญชาติบาห์เรน อาชีพธุรกิจส่วนตัว (มีภรรยาเป็นคนไทย) เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 27 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) ในกรุงเทพมหานคร พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรก วันที่ 2 ตุลาคม 2563 (วันที่ 5 ของการกักตัว) ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร

      ญี่ปุ่น 1 ราย เพศหญิง อายุ 55 ปี สัญชาติไทย อาชีพธุรกิจส่วนตัว เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 30 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ในจังหวัดชลบุรี พบเชื้อจาการตรวจครั้งแรก   วันที่ 4 ตุลาคม 2563 (วันที่ 4 ของการกักตัว) โดยวันที่ 3 ตุลาคม 2563 เริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไอ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน จังหวัดชลบุรี ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อจากเที่ยวบินเดียวกัน 1 ราย เป็นสามีของผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบกักกันและส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว

       นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ที่น่ากังวลและอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยขณะนี้คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้านที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาครัฐได้กวดขันผู้ที่เดินทางเข้าประเทศทางด่านพรมแดน เฝ้าระวัง ตรวจจับ แรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมายที่ไม่ได้ผ่านมาตรการคัดกรองโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ และประชาชนช่วยกันสอดส่องหากพบผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หรือมีแรงงานผิดกฎหมาย ขอเข้าทำงานให้แจ้งเจ้าหน้าที่โดยเร็ว เนื่องจากกลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยงที่อาจนำเชื้อมาแพร่ให้กับคนในประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศ

    กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยสุขภาพของคนไทยทุกคน ขอย้ำให้ประชาชนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเข้มข้น เป็นนิสัย โดยเฉพาะการสวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้านและตลอดเวลาขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ นอกจากช่วยป้องกันการป่วยด้วยโรคโควิด 19 แล้ว ยังช่วยลดอัตราการป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่และโรคระบบทางเดินหายใจด้วย ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่ และ โควิด 19 จะมีอาการป่วยที่ใกล้เคียงกัน ทั้งอาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ หรืออาการระบบทางเดินหายใจ แต่ที่แตกต่างกันคือ ผู้ติดเชื้อโควิด 19 อาจมีอาการลิ้นรับรส หรือกลิ่นลดลง ขอแนะนำว่าหากป่วยภายหลังจากเดินทางไปในที่ชุมชน สถานที่แออัด ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

      จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่เดือน มกราคม – กันยายน 2562 มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่  304,4225 ราย เสียชีวิต 20 ราย มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ป่วยเพียง 110,930 ราย เสียชีวิต 4 ราย นอกจากนี้การล้างมือบ่อยๆ ยังช่วยลดอัตราการป่วยด้วยโรคโรคอุจจาระร่วง โดยในปีนี้มีผู้ป่วย 621,445 ราย ลดลงจากในช่วงเดียวกันปี 2562 ที่พบ 883,449 ราย แสดงให้เห็นว่ามาตรการป้องกันตนเองสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคทั้ง 2 กลุ่ม กระทรวงสาธารณสุขจึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี และลดอัตราการป่วยจากโรคดังกล่าว

 **************************************  5 ตุลาคม 2563

**************************************

 



   
   


View 1185    05/10/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ