สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 572 View
- อ่านต่อ
รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2563
วันนี้ (2 ตุลาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6 ราย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ (ซูดานใต้ 1 ราย, อินเดีย 2 ราย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย, ญี่ปุ่น 1 ราย) ทุกรายเข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้, สถานกักตัวที่รัฐกำหนด,สถานกักกันรูปแบบเฉพาะขององค์กร และคัดกรองที่ด่านฯ มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 5 ราย ทำให้ผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,384 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 94.66 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 132 ราย หรือร้อยละ 3.69 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 59 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,575 ราย
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจาก
ซูดานใต้ 1 ราย เป็นเพศชาย สัญชาติไทย อายุ 34 ปี อาชีพรับราชการทหาร (ปฏิบัติภารกิจทางทหาร) เดินทางถึงประเทศไทยโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ที่จังหวัดชลบุรี ตรวจหาเชื้อครั้งแรกวันที่ 26 กันยายน 2563 (วันที่ 4 ของการกักตัว) ผลไม่ชัดเจน ตรวจซ้ำอีกครั้ง วันที่ 30 กันยายน 2563 (วันที่ 8 ของการกักตัว) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทหารที่กรุงเทพมหานคร ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อจากเที่ยวบินเดียวกัน 24 ราย ทุกรายได้เข้าสู่ระบบกักกันและส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล
อินเดีย 2 ราย ทั้งหมดมีสัญชาติอินเดีย
รายแรกเป็นเพศชาย อายุ 7 เดือน เดินทางมาพร้อมกับมารดาและพี่สาว (ตรวจพบเชื้อเช่นเดียวกัน) เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 23 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) ในกรุงเทพมหานคร พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรกวันที่ 26 กันยายน 2563 (วันที่ 3 ของการกักตัว) ไม่มีอาการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อจากเที่ยวบินเดียวกัน 6 ราย ทุกรายได้เข้าสู่ระบบกักกันและส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล
อีกราย เป็นเพศชาย อายุ 23 ปี อาชีพนักศึกษา เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 25 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานกักกันรูปแบบเฉพาะขององค์กร (Organization Quarantine) ที่จังหวัดปทุมธานี พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรก วันที่ 30 กันยายน 2563 (วันที่ 5 ของการกักตัว) ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดปทุมธานี ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อจากเที่ยวบินเดียวกัน 4 ราย ทุกรายได้เข้าสู่ระบบกักกันและส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย เป็นพี่-น้อง อายุ 29 และ 42 ปี สัญชาติไทย อาชีพพนักงานนวด เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 25 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ที่จังหวัดชลบุรี พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรก วันที่ 29 กันยายน 2563 (วันที่ 4 ของการกักตัว) ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดชลบุรี
ญี่ปุ่น 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 56 ปี สัญชาติไทย อาชีพค้าขาย เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 30 กันยายน 2563 ด่านควบคุมโรคท่าอากาศยานสุวรรณภูมิคัดกรองพบเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค (PUI) จึงตรวจหาเชื้อในวันเดียวกัน ผลพบเชื้อ เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรปราการ เริ่มป่วยวันที่ 29 กันยายน 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ เจ็บคอ
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทั่วโลกรายงานวันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 319,406 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกกว่า 34.5 ล้านราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับรายงานมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะต่ำกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจริงค่อนข้างมาก ซึ่งมีนักวิชาการคาดการณ์ว่าทั่วโลกน่าจะมีผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 100 ล้านคน สำหรับประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดี เนื่องจาก มีระบบควบคุมโรคที่เข้มแข็งเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับเอเชียและระดับโลก ทีมควบคุมโรคลงพื้นที่เริ่มปฏิบัติงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคที่เร็วซึ่งมีผลโดยตรงต่อการควบคุมการแพร่ระบาด อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ช่วยทำงาน ทีมนักวิชาการที่ช่วยในด้านการตัดสินใจ ภาวะการนำตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับพื้นที่ที่เข้มแข็ง สำคัญที่สุดคือความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชน หมู่บ้าน ประชาชน ที่ปฏิบัติตามมาตรการและให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดในระลอกแรกได้เป็นอย่างดี และยังไม่เกิดการแพร่ระบาดในระลอกที่ 2
สำหรับสถานการณ์ที่น่าจับตามองในขณะนี้คือ สถานการณ์ในประเทศเมียนมาที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการระบาดเริ่มใกล้พรมแดนไทยมากขึ้น ซึ่งภาครัฐได้กวดขันผู้ที่เดินทางเข้าประเทศทางด่านพรมแดน เฝ้าระวัง ตรวจจับ แรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมายที่ไม่ได้ผ่านมาตรการคัดกรองโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ และประชาชนช่วยกันสอดส่องหากพบผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หรือมีแรงงานผิดกฎหมายขอเข้าทำงานให้แจ้งเจ้าหน้าที่โดยเร็ว เนื่องจากกลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยงที่อาจนำเชื้อมาแพร่ให้กับคนในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศ
“โควิดไม่ได้ส่งกระทบต่อสุขภาพทางตรงอย่างเดียว แต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยทางอ้อม ทั้งวิถีการดำรงชีวิต วิถีทางสังคม เศรษฐกิจ หรือรายได้ ดังนั้นขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตนเอง ครอบครัว ชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด” นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว
********************************* 2 ตุลาคม 2563