สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สรุปผลการดำเนินงานเขตสุขภาพ ปีงบประมาณ 2563 ในโครงการสำคัญ อาทิ โครงการพระราชดำริ กัญชาทางการแพทย์และสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ การดูแลสุขภาพเด็กและผู้สูงอายุ เพิ่มการเข้าถึงบริการ ลดแออัด ลดรอคอย อาทิ การรับยาใกล้บ้าน และแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในพื้นที่ ได้ผลดี ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต

        วันนี้ (29 กันยายน 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สรุปผลการดำเนินงานตามนโยบายด้านสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2563 ในโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการพระราชดำริ กัญชาทางการแพทย์และสมุนไพร เพื่อเศรษฐกิจ การดูแลสุขภาพทุกกลุ่มวัย การเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการ ลดแออัด ลดรอคอย และปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในพื้นที่ รวมทั้ง 10 ประเด็นตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ (Performance Agreement : PA) ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการใกล้บ้าน สะดวก รวดเร็ว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

           นายแพทย์สุขุมกล่าวว่า ทั้ง 12 เขตสุขภาพครอบคลุมทั่วประเทศ ได้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล โดยการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ผ่านเกณฑ์ทุกเขตสุขภาพ, มีการจัดตั้งคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลทุกระดับ 311 แห่ง, โครงการอาหารปลอดภัย ผักปลอดสารพิษ ดำเนินการสุ่มตรวจวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ในผักสด ผลไม้ ในโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย 27 แห่ง ไม่พบสารตกค้างร้อยละ 69.6, การคัดกรองพัฒนาการเด็ก 0-5 ปีได้มากกว่าร้อยละ 90 พบมีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 91 ผู้สูงอายุได้รับการคัดกรองภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 78.5 พบมีภาวะเสี่ยงร้อยละ 1.4 และพลัดตกหกล้มร้อยละ 79 มีภาวะเสี่ยงร้อยละ 4.7 และมีตำบลที่ผ่านเกณฑ์ระบบส่งเสริมสุขภาพการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ร้อยละ 91.55

       สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการ ลดแออัด ลดรอคอย โดยพัฒนาศักยภาพระบบปฐมภูมิมี อสม.ได้รับการอบรมเป็น อสม.หมอประจำบ้าน 84,793 คน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิครอบคลุมประชากรร้อยละ 36.3 สำหรับการบริหารจัดการโรงพยาบาล พัฒนาโรงพยาบาลให้เป็น Smart Hospital และโรงพยาบาล 118 แห่งมีบริการรับยาร้านยาใกล้บ้าน และเพิ่มทางเลือก   เช่น จัดส่งยาทางไปรษณีย์, รับยาที่ รพ.สต.ใกล้บ้าน, อสม.ส่งยา รวมทั้งโรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่งผ่านเกณฑ์ห้องฉุกเฉินคุณภาพ มีระบบทางด่วนอุบัติเหตุที่มีระบบบริหารจัดการ สามารถผ่าตัดได้ภายใน 60 นาที มีห้องฉุกเฉินความดันลบรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อ, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการไม่เกิน 72 ชั่วโมงได้รับการรักษาใน Stroke unit มากกว่าร้อยละ 50 ส่วนใหญ่ทำได้ตามเป้าหมาย ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย สำหรับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับทุกเขตทำได้ดี โดยรพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี มีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในจุดเดียว และการจัดหอผู้ป่วยดูแลผู้ป่วยพ้นวิกฤตก่อนกลับบ้านในโรงพยาบาลชุมชน ทำได้เกือบทุกเขตสุขภาพ

       นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ผลงานที่ผ่านเป็นสิ่งที่พิสูจน์การทำงานของผู้บริหารและบุคลากร ที่รวมกันเป็นครอบครัว เป็นทีมงาน เป็นพี่น้อง ทุ่มเททำงาน เช่นความสำเร็จการควบคุมโรคโควิด 19 ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ขอให้ใช้ข้อมูลจากกรมวิชาการมาสนับสนุนการทำงานทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่ต่อไป

********************************* 29 กันยายน 2563

*********************************



   
   


View 645    29/09/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ