รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พอใจผลการทำงานของเจ้าหน้าที่การแพทย์-สาธารณสุข หน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉิน ในรอบวันที่ 11-13 เมษายน 2551 ยอดโทรแจ้งสายด่วนนเรนทร 1669 ขอความช่วยเหลือเกือบ 4,000 ครั้ง หน่วยกู้ชีพออกปฏิบัติการ 7,994 ครั้ง รักษาและนำส่งโรงพยาบาล 7,345 ครั้ง ใช้เวลาเพียง 10 นาที ทำได้ดีกว่าเป้าที่ตั้งไว้ภายใน 15 นาที วันนี้ (14 เมษายน 2551) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ตรวจเยี่ยมการจัดบริการรองรับผู้บาดเจ็บและป่วยฉุกเฉินในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จังหวัดราชบุรี โดยเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่จุดรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุมูลนิธิรวมใจการกุศล อ.บ้านโป่ง จุดตรวจหน้าเขาแก่นจันทร์ อ.เมือง และที่โรงพยาบาลราชบุรี นายไชยากล่าวว่า การตรวจเยี่ยมที่จังหวัดราชบุรีครั้งนี้ เนื่องจากเป็นจังหวัดทางผ่านไปแหล่งท่องเที่ยวเช่น ที่หัวหิน ชะอำ อยู่ใกล้กรุงเทพ ไม่ต้องเดินทางไกล เพราะน้ำมันมีราคาแพงขึ้น ประชาชนจึงเบนเข็มเลือกเที่ยวใกล้ๆแทน จากการติดตามดูช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่น่าห่วงก็คือ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์เล่นน้ำสงกรานต์ส่วนใหญ่มักไม่ใส่หมวกกันน็อค เมื่อบาดเจ็บมักจะมีอาการรุนแรงที่สมอง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ อาจทำให้พิการตลอดชีวิตเป็นภาระครอบครัวภายหลัง ในรอบ 3 วันมานี้ที่จังหวัดราชบุรี พบว่าร้อยละ 67 ของผู้บาดเจ็บเกิดจากการใช้รถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่แขนขาหัก รองลงมาคือ สมองกระทบกระเทือน ขณะนี้ฝ่ายการแพทย์ของโรงพยาบาลราชบุรี ได้เตรียมแพทย์เฉพาะทางทุกสาขาอยู่เวรทุกวัน ได้มอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และทุกอำเภอกวดขันเรื่องนี้เป็นพิเศษ นายไชยากล่าวต่อว่า จากการประเมินผลการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ฉุกเฉินในภาพรวมทั่วประเทศเป็นที่น่าพอใจมาก สามารถออกปฎิบัติการไปถึงที่เกิดเหตุหลังวางสายได้ภายใน 10 นาที เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือภายใน 15 นาที แสดงว่าความพร้อมของทีมงานมีสูงมาก ตลอดช่วง 3 วันหยุดฉลองเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 11-13 เมษายน 2551 มีประชาชนโทรแจ้งสายด่วน 1669 ขอความช่วยเหลือหน่วยกู้ชีพรวมทั้งหมด 3,859 สาย เฉลี่ยโทรทุก 1 นาที หน่วยกู้ชีพออกปฏิบัติการทั้งหมด 7,994 ครั้ง เฉลี่ยนาทีละ 2 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตาจราจรอย่างเดียว 3,498 ครั้งหรือประมาณร้อยละ 43 ของการป่วยฉุกเฉินทั้งหมด ที่เหลือเป็นการป่วยฉุกเฉินกะทันหัน เช่น จากโรคประจำตัวกำเริบเช่นความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ 3,553 ครั้ง นอกจากนั้นจมน้ำ 24 ครั้ง ถูกทำร้ายร่างกาย 402 ครั้ง ทำร้ายตัวเอง 49 ครั้ง สามารถให้การช่วยชีวิตผู้เจ็บป่วยและนำส่งรักษาต่อโรงพยาบาลทั่วประเทศสูงถึงร้อยละ 91 จำนวน 7,345 ครั้ง ในจำนวนนี้เสียชีวิตระหว่างนำส่งร้อยละ 4 เนื่องจากอาการสาหัสมาก ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การปฏิบัติงานหน่วยกู้ชีพในปีนี้มากกว่าเทศกาลสงกรานต์ปีที่แล้วร้อยละ 60 โดยมากที่สุดเป็นการปฏิบัติงานของหน่วยกู้ชีพเบื้องต้นประจำตำบลหมู่บ้านร้อยละ 53 รองลงมาคือ ทีมกู้ชีพพื้นฐานร้อยละ 27 และทีมกู้ชีพชั้นสูงซึ่งจะออกปฏิบัติการในกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยรุนแรงร้อยละ 20 ทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น


   
   


View 10    14/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ