“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 148 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร สหรัฐอเมริกา (USAMD-AFRIMS) ร่วมมือศึกษาวิจัยทางคลินิกโรคเขตร้อน วัคซีนเอชไอวี วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก และการใช้ประโยชน์จากการถอดรหัสสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด 19 ในไทย
วันนี้ (15 กันยายน 2563) ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) ถนนโยธี กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร (H.E. Mr. Michael George DeSombre) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหรัฐอเมริกา นายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลโท นพ.ชาญชัย ติกขะปัญโญ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก และคณะ เข้าเยี่ยมชมสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร US Army Medical Directorate of the Armed Forces Research Institute of Medical Sciences (USAMD-AFRIMS) เพื่อเน้นย้ำความสัมพันธ์และความร่วมมือที่สำคัญระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาในการวิจัยทางการแพทย์ การเฝ้าระวังโรค การพัฒนามาตรการตอบโต้ทางการแพทย์
นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้มีความร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดผ่านศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข (TUC) และ AFRIMS มาอย่างต่อเนื่อง ร่วมศึกษาวิจัยทดลองทางคลินิกโรคเขตร้อน การผลิตวัคซีนเอชไอวี และวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก รวมทั้งตั้งแต่ช่วงแรกที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ช่วยสืบค้นผู้สัมผัส และการตรวจทางห้องปฏิบัติการหาเชื้อโควิด 19 ซึ่ง AFRIMS เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการวิจัยทางการแพทย์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด
นายอนุทินกล่าวต่อว่า AFRIMS ได้มีความร่วมมือในโครงการเฝ้าระวังและงานวิจัยร่วมกับกรมควบคุมโรค อาทิ การศึกษาอุบัติการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในชายไทยที่ได้รับการคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการ กองทัพบก โครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลอง การศึกษาเบื้องต้นการถอดรหัสสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด 19 ที่พบในคนไทย เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาธรรมชาติของเชื้อไวรัสในแง่ความเชื่อมโยงที่มาที่ไปของผู้ป่วย และความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงของโรคกับไวรัสที่กลายพันธุ์จากชนิดหนึ่งเป็นอีกชนิดหนึ่งได้ การลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยโรคมาลาเรียเชิงรุก ยกระดับจากการควบคุมโรคเป็นกำจัดโรค โดยการตั้งเป้าหมายร่วมกันให้ทุกอำเภอของประเทศไทยไม่มีการแพร่เชื้อมาลาเรียในพื้นที่ติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี รวมถึงการเฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยา
สำหรับความร่วมมือต่อเนื่องที่จะดำเนินการร่วมกันคือ การสนับสนุนการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทั้งทางซีโรโลยี พันธุกรรม การเพาะเชื้อ ในภาวะที่มีการระบาดของโรคติดต่อ โดยเฉพาะโรคติดต่ออุบัติใหม่,โครงการเฝ้าระวังเชิงรุกกลุ่มโรคไข้สมองอักเสบด้านห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรค Japanese B encephalitis, ขยายผลการเฝ้าระวังโรค พาหะนำโรคติดต่อในพื้นที่ชายแดนและช่องทางเข้าออกประเทศ เน้นโรคในกลุ่มที่เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558, สนับสนุนการศึกษาดูงานผู้เข้ารับการฝึกอบรมสาขาแพทย์ระบาดวิทยาภาคสนาม และผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากสถาบันเวชศาสตร์ป้องกันศึกษาอย่างต่อเนื่อง และร่วมกันจัดทำแนวปฏิบัติในการรายงานโรคที่ต้องเฝ้าระวังที่ตรวจพบจากโครงการวิจัยและโครงการเฝ้าระวังโรคติดต่อในพื้นที่ดำเนินการต่างๆ ของ AFRIMS เข้ามาอยู่ในระบบรายงานโรคตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
*************************** 15 กันยายน 2563
***************************