“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 122 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขเผย ได้วางระบบบริหารจัดการข้อมูลทรัพยากรแบบเรียลไทม์ กระจายอุปกรณ์ป้องกัน เวชภัณฑ์ ยาไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง สำรองไว้ใช้ได้ถึง 3 เดือน และส่วนกลาง พร้อมสนับสนุนทันทีหากเกิดการระบาด
วันนี้ (14 กันยายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน และนายแพทย์ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล รักษาการผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน ร่วมกันแถลงข่าว “การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด 19”
นายแพทย์สุรโชค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโควิด 19 สถานการณ์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 โดยตั้งคณะทำงานด้านการกระจายทรัพยากรและอุปกรณ์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งช่วงแรกอาจยังไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เนื่องจากกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในประเทศยังไม่เพียงพอ ปัจจุบันมีการบริหารจัดการ และมีโรงงานที่ผลิต 45 โรงงานและมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่างๆ เพียงพอรับมือกับโรคโควิด 19 และสำรองไว้ใช้ได้นานถึง 3 เดือน โดยหน้ากาก N95 มีสำรอง 2,430,189 ชิ้น อยู่ที่ส่วนกลาง 1,916,050 ชิ้น ชุด PPE สำรองไว้ 1,471,131 ชิ้น อยู่ที่ส่วนกลาง 607,494 ชิ้น หน้ากากอนามัยสำรองไว้ 43,414,478 ชิ้น อยู่ที่ส่วนกลาง 300,000 ชิ้น กำลังการผลิต 3,418,400 ชิ้นต่อวัน ซึ่งถือว่าเพียงพอ เนื่องจากประชาชนสามารถใช้หน้ากากผ้าควบคู่ไปด้วยได้ ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ มีสำรอง 590,680 เม็ด และยาเรมเดซิเวียร์ ขนาด 50 มิลลิกรัมจำนวน 65 ขวด และขนาด 100 มิลลิกรัม จำนวน 330 ขวด รองรับผู้ป่วยได้ 33 ราย
นายแพทย์สุรโชค กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดนประเทศเมียนมา จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง มีการสำรองเวชภัณฑ์เพื่อรับมือกับโรคโควิด 19 ดังนี้ หน้ากาก N95 จำนวน 29,872 ชิ้น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 3,831,938 ชิ้น ชุด PPE จำนวน 28,704 ชุด และชุด Surgical Gown จำนวน 15,645 ชุด
ด้านนายแพทย์วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีระบบติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยโรคโควิด 19 แบบเรียลไทม์ ซึ่งนำข้อมูลดังกล่าวมาบริหารจัดการทรัพยากร อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ได้ทันที ทำให้สามารถรับมือกับโรคโควิด 19 ได้ นอกจากนี้ ในภาพรวมของประเทศมีศักยภาพรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 1-2 หมื่นคน บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนมีความพร้อม และยังคงความเข้มข้นของสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ในหลายรูปแบบ เพื่อไม่ให้คนไทยติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
ส่วนนายแพทย์ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล รักษาการผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 กระทรวงสาธารณสุขได้รับพระมากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานรถเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อชีวนิรภัยพระราชทานในการลงพื้นที่ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก นอกจากนี้ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ให้มีผู้ติดเชื้อน้อยลงตามลำดับ ขณะนี้ได้จัดสรรทรัพยากรให้ลงถึงพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นจังหวัดตะเข็บชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาดของโรค ทั้งเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อ รวมทั้งเร่งรัดเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยเป็นขวัญกำลังใจบุคลากร และงบประมาณที่จำเป็นสำหรับใช้ในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว
************************* 14 กันยายน 2563