กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย ถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาสุขศาลาพระราชทาน เป็นที่พึ่งด้านสุขภาพขั้นพื้นฐาน นักเรียนและประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร สนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี 

        วันนี้ (9 กันยายน 2563) ที่โรงแรมรอยัล พลาคลิฟบีช รีสอร์ท อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มอบนโยบายการขับเคลื่อนและพัฒนาสุขศาลาพระราชทาน ในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การต่อยอดการพัฒนาสุขศาลาพระราชทาน โดยมีผู้ปฏิบัติงานในสุขศาลาพระราชทาน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พี่เลี้ยงจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลแม่ข่าย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และบุคลากรกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ร่วมนำเสนอผลการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพสุขศาลาพระราชทาน

     ดร.สาธิตกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข  ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ มีสุขภาพดี โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาการดำเนินงานสุขศาลาพระราชทานในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549  จำนวน 9 แห่ง ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทั้งการจัดสรรงบประมาณ การบริหารจัดการ การประสานความร่วมมือภาคีเครือข่าย พัฒนาสุขศาลาพระราชทานให้มีศักยภาพสูงขึ้น เป็นที่พึ่งด้านสุขภาพแก่นักเรียนและประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร พื้นที่ตามแนวชายแดนและพื้นที่พิเศษด้านความมั่นคง ปัจจุบันมีสุขศาลาพระราชทาน เพิ่มเป็น 22 แห่ง ทั้งในโรงเรียน/ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา และองค์การบริหารส่วนตำบล กระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกลใน 10  จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา และนราธิวาส

        ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายและกลไกการพัฒนาสุขศาลาพระราชทาน ประกอบด้วย พัฒนาระบบและกลไกการบริหารจัดการของสุขศาลาพระราชทานแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย มุ่งเน้นให้เกิดการบริหารจัดการสุขศาลาพระราชทานโดยคณะกรรมการพัฒนาสุขศาลาพระราชทานทุกระดับส่งเสริมและพัฒนาสุขศาลาพระราชทานให้เป็นเครือข่ายบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ และพัฒนาระบบการรักษาทางไกล (Telemedicine) และระบบการส่งต่อ พัฒนาสุขภาพภาคประชาชนและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพที่ดี พัฒนาภาคีเครือข่ายและศักยภาพกำลังคนภาคประชาชน อาทิ ปราชญ์ชาวบ้าน อสม. อสม.น้อย แกนนำสุขภาพนักเรียน เพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชน พัฒนาศักยภาพบุคลากรและกำลังคนด้านสุขภาพ เจ้าหน้าที่เครือข่าย และ อสม.ผู้ปฏิบัติงานในสุขศาลาพระราชทานให้มีศักยภาพด้านบริหารจัดการและการรักษาพยาบาล เพิ่มวุฒิการศึกษาบุคลากร และสร้างความเข้มแข็งทีมพี่เลี้ยง

         “กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย ได้ทุ่มเทสรรพกำลังสนองงานตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พัฒนาสุขศาลาพระราชทานให้เป็นที่พึ่งด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพเพื่อนักเรียนและประชาชนในถิ่นทุรกันดารห่างไกล เพิ่มการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ลดความเหลื่อมล้ำ” ดร.สาธิตกล่าว     

  **************************************

  ************************************  9 กันยายน 2563



   
   


View 713    09/09/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ