“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 143 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลระยองและโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ให้เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา จัดการเรียนการสอนชั้นคลินิก ผลิตแพทยศาสตร์บัณฑิต รับรองการดูแลสุขภาพนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดใน 10 ปีมีประชาชนทั้งไทยต่างชาติกว่า 13 ล้านคน
วันนี้ (17 สิงหาคม 2563) ที่โรงพยาบาลระยอง จ.ระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานและสักขีพยาน ในพิธีบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการเป็นโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสมทบในการผลิตแพทย์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับกระทรวงสาธารณสุข
ดร.สาธิตกล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการเตรียมการให้จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าจะมีประชากรถึง 13 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและมีสถานที่ท่องเที่ยวเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเช่นกัน จึงได้วางแผนให้โรงพยาบาลศูนย์ระยอง โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีศักยภาพระดับตติยภูมิ มีความเป็นเลิศในด้านอาชีวเวชศาสตร์ การจัดการภาวะฉุกเฉิน และห้องฉุกเฉินคุณภาพ ให้บริการแบบองค์รวมที่ได้มาตรฐานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย รวมถึงมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาหลายด้าน ให้เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา ร่วมกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการผลิตแพทยศาสตร์บัณฑิตหลักสูตรนานาชาติ
ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า ความร่วมมือของทั้ง 2 สถาบัน จะช่วยทำให้มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง และความคาดหวังต่อบริการสุขภาพที่สูงขึ้นในอนาคต อาทิ ด้านโรคจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม มลภาวะ อุบัติเหตุจราจร โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ โดยจะเริ่มเปิดรับนักศึกษาในปี 2565 จัดการเรียนการสอนชั้นพรีคลินิกที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลระยอง และโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ในปี 2568 นับเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาให้จังหวัดระยองเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการ (Academic Hub) ศูนย์กลางด้านสุขภาพ (Wellness Hub) และด้านการบริการ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ (Medical Hub) ของประเทศและภูมิภาค มีความพร้อมด้านการดูแลสุขภาพในอนาคตต่อไป
*********************************** 17 สิงหาคม 2563