“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 153 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 “ไทยรู้ สู้วิกฤติ” และเสวนาทางไกล “การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โอกาสในวิกฤติ” กับผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน และสิงคโปร์
วันนี้ (20 พฤษภาคม 2563) ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2563 “ไทยรู้ สู้วิกฤติ” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในและต่างประเทศ ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) พร้อมปาฐกถาพิเศษและเสวนาทางไกล “PP&P โอกาสในวิกฤติ” กับ ดร. หวู่ จิ้น ผู้อำนวยการสำนักงานกลุ่มผู้นำด้านการป้องกันและควบคุมโรคระบาดแห่งมณฑลซานซี และประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งมณฑลซานซี (Dr.Wu Jin, Director-general Shanxi Provincial Health Commission) สาธารณรัฐประชาชนจีน และดร. ชอว์น วาซู ผู้อำนวยการด้านคลินิกศูนย์โรคติดต่อแห่งชาติ (Dr.Shawn Vasoo, Clinical Director National Center for Infectious Disease) ประเทศสิงคโปร์
นายอนุทินกล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 5 เดือนที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือของคนไทย และความทุ่มเทเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด 19 อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลง ปัจจัยสำคัญคือ ความเข้มแข็งและมั่นคงของระบบสาธารณสุข ทั้งระบบเฝ้าระวังรับรู้เร็ว โต้ตอบจัดการโรคทันท่วงที การตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับประเทศ มีคณะกรรมการโรคติดต่อทั้งระดับส่วนกลางและระดับจังหวัด ความเข้มแข็งในการตรวจคัดกรอง ณ ท่าอากาศยานทุกแห่ง ด่านชายแดน และด่านท่าเรือ หน่วยคัดกรองโรคโควิด 19 ในโรงพยาบาล และการค้นหาเชิงรุก ซึ่งมี อสม. ทั่วประเทศกว่า 1 ล้าน 4 หมื่นคน ช่วยค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว นำเข้าสู่ระบบแยกกักและจัดการดูแลกลุ่มป่วยและกลุ่มเสี่ยง เพื่อการควบคุมการแพร่เชื้อโดยไม่ต้องสร้างโรงพยาบาลใหม่ การปรับปรุงโรงพยาบาลรัฐหรือโรงแรมของเอกชนให้เป็นโรงพยาบาลสนาม สำรองยารักษาและเตรียมการจัดหาและผลิตวัคซีน รวมทั้งศักยภาพในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยมีอย่างน้อย 1 ห้องแล็บ 1 จังหวัด ขณะนี้มี 167 แห่ง ศักยภาพการตรวจได้ถึง 50,000 ตัวอย่างต่อวัน ซึ่งผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) จะได้รับการตรวจโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากติดเชื้อโควิด 19 รักษาฟรี ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ขณะนี้ไทยเข้าสู่ระยะการผ่อนปรน ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาและรับรองมาตรฐานการดำเนินงานของสถานประกอบการและสถานที่สาธารณะเพื่อเปิดให้บริการอย่างปลอดภัย มีมาตรการหลักคือ การสวมหน้ากากทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ การทำความสะอาดสถานที่และจุดสัมผัสร่วม การบริการจุดล้างมือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลและการควบคุมจำนวนคน สิ่งสำคัญคือความร่วมมือจากประชาชน ตั้งแต่การใช้หน้ากากผ้า การหยุดเชื้ออยู่บ้าน การล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ใช้ช้อนและภาชนะส่วนตัว ซึ่งเป็นวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว ป้องกันการแพร่ระบาดรอบใหม่ “ร่วมพลังสร้างสังคมวิถีใหม่ ไทยรอบรู้สู้โควิด พลิกวิกฤติไปเป็นความมั่นคงด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ในฐานะองค์กรหลักของประเทศในการ “อภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อประชาชนสุขภาพดี” ดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ (PP&P Excellence) และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมความรอบรู้ สร้างความเข้าใจ และสื่อสารประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันตนเองและวิถีชีวิตในระยะผ่อนปรน
****************************** 20 พฤษภาคม 2563
************************************