กระทรวงสาธารณสุขเตือนภัยช่วงปิดเทอมมีนาคม-พฤษภาคม หน้าร้อน ระวังเด็กจมน้ำ โดยแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 1,500 คน หรือเฉลี่ยวันละ 4 คน เหตุมักเกิดในวันหยุดช่วงเวลาบ่าย แนะผู้ปกครองแลเด็กใกล้ชิดโดยเฉพาะเด็กเล็กวัย 1-4 ขวบ อย่าปล่อยให้คลาดสายตาแม้เพียงชั่วขณะ แม้แค่น้ำตื้น ๆเช่น ในกาละมัง อ่างน้ำ ก็ทำให้เด็กตายได้ กรณีที่มีข่าวเด็กนักเรียนชั้น ป.1 และเพื่อนนักเรียนชั้นอนุบาลโรงเรียนเดียวกัน อายุ 4-7 ปีจำนวน 5 คน จมน้ำเสียชีวิต หลังเลิกเรียนชวนกันลงเล่นน้ำคลายร้อนในสระน้ำประจำหมู่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลสระโพนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ นั้น นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าขณะนี้เป็นช่วงปิดเทอม และสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ปัญหาที่มักพบทุกปีในช่วงนี้คือเด็กจมน้ำเสียชีวิต เนื่องจากธรรมชาติของเด็กมักชอบเล่นน้ำอยู่แล้ว เมื่อสภาพอากาศร้อนอบอ้าว เด็กมักลงไปในสระน้ำ และแม่น้ำ โดยที่ไม่รู้ระดับความลึกของน้ำ โดยจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า การจมน้ำเกิดขึ้นบ่อยมากในบ่อน้ำ ทะเลสาบ แม่น้ำ รวมทั้งในสระน้ำ และอ่างน้ำ นอกจากนี้ยังพบว่า อ่างน้ำนับเป็นจุดเสี่ยงของการเกิดการเสียชีวิตของเด็กวัยต่ำกว่า 4 ขวบ เด็กวัยนี้สามารถจมน้ำได้ในน้ำที่มีระดับเพียง 1-2 นิ้ว เนื่องจากเด็กเล็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ และช่วยเหลือตนเองไม่เป็น จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังดูแลบุตรหลาน อย่าปล่อยให้ลงไปเล่นน้ำโดยลำพัง ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจมน้ำ ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่ทำให้เด็กทั่วโลกที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีบาดเจ็บและเสียชีวิตถึงร้อยละ 57 โดยพบที่ประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 30 ขณะที่สหรัฐอเมริกาพบร้อยละ 23 ที่ออสเตรเลียร้อยละ 18 แต่ละปีทั่วโลกมีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำประมาณ 230,000 คน มากกว่าเสียชีวิตจากสงคราม ในจำนวนนี้ 2 ใน 3 ว่ายน้ำไม่เป็น พบมากที่สุดในเด็กอายุ 1 ขวบ สำหรับในประเทศไทย การจมน้ำเป็นปัญหาสำคัญอันดับหนึ่ง ที่ทำให้เด็กเกิดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต ในแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตกว่า 1,500 คน เฉลี่ยวันละ 4 คน โดยจมน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บ่อน้ำ ทะเลสาบ แม่น้ำ สระว่ายน้ำ และอ่างน้ำภายในบ้าน และเมื่อเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตในทุกสาเหตุจะพบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิต ซึ่งสูงกว่าโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ และสูงมากกว่าอุบัติเหตุจราจรถึง 2 เท่าตัว โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบอัตราการเสียชีวิตของเด็กมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้ เพศชายเสียชีวิตมากกว่า เพศหญิง 2-5 เท่า และพบว่าช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม –พฤษภาคม เป็นช่วงที่พบเด็กจมน้ำมากที่สุด เหตุมักเกิดมากที่สุดในช่วงเวลาบ่ายของวันหยุด จากข้อมูลผู้ป่วยที่จมน้ำและเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ในปีงบประมาณ 2548 พบว่าผู้บาดเจ็บจากการจมน้ำนอนรักษาเฉลี่ยรายละ 4 วัน มีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 13,000 บาทต่อคน จากการวิเคราะห์ สาเหตุการจมน้ำเสียชีวิตในเด็กอายุ 1-4 ขวบ มักเกิดจากการเผอเรอของผู้ปกครอง ผู้ดูแล โดยพบการจมน้ำสูงในภาชนะกักเก็บน้ำ เช่นถังน้ำ อ่างน้ำ กะละมัง เนื่องจากเด็กไม่สามารถดูแลตนเองได้ จึงขอเตือนผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กต้องดูแลเด็กใกล้ชิด ไม่ควรคลาดสายตาแม้เพียงชั่วขณะเช่น รับโทรศัพท์ ล้างจาน ตากผ้า หรือเผลองีบหลับ ขณะที่เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป มักเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และเด็กว่ายน้ำไม่เป็น จะพบการจมน้ำสูงในแหล่งน้ำใกล้ๆ บ้านและแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่นร่องน้ำ คู คลอง แม่น้ำ ทะเล เนื่องจากผู้ปกครองผู้ดูแลคิดว่าสิ่งแวดล้อมรอบๆบ้านหรือในละแวกบ้าน ไม่มีอันตราย อย่างไรก็ดี ในการป้องกันเด็กจมน้ำ ผู้ปกครองควรปิดประตูห้องน้ำให้สนิท ไม่ควรใส่น้ำในถังน้ำแล้วตั้งทิ้งไว้ และอย่าวางของเล่นไว้บริเวณรอบสระน้ำ เนื่องจากเป็นการสนับสนุนให้เด็กเล่นในบริเวณที่เป็น อันตราย ผู้ปกครองเด็กไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่เพียงลำพังขณะอาบน้ำ หรือขณะที่อยู่ในแหล่งน้ำหรือใกล้แหล่งน้ำ เช่นห้องน้ำ อ่างน้ำ ถังน้ำ ท่อระบายน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ว่าเด็กจะมีอายุเท่าใดก็ตาม โดยเฉพาะห้ามทิ้งเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ไว้ในห้องน้ำคนเดียว หากจำเป็นต้องออกจากห้องน้ำ เช่นรับโทรศัพท์ ให้นำเด็กออกมาด้วย ไม่ควรอนุญาตให้เด็กไปว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่คุ้นเคย ทั้งนี้มีข้อมูลพบว่าเด็กก่อนวัยเรียนที่จมน้ำร้อยละ70 มีผู้ปกครองเด็กหรือผู้ดูแล 1ถึง 2 คนขณะเกิดเหตุ และร้อยละ 75 เกิดจากการคลาดสายตาจากเด็กไปไม่เกิน 5 นาทีเท่านั้น นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว


   
   


View 9    23/03/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ