รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมแพทย์รับตัวน้องบอล วัย 12 ปี จากจังหวัดอ่างทอง ที่กินเฉพาะบะหมี่ เข้าตรวจสุขภาพที่รพ.วิเศษชัยชาญ ผลการตรวจโดยรวมเด็กแข็งแรง พัฒนาการสมวัย แนะไม่ควรให้เด็กกินบะหมี่อย่างเดียวซ้ำซากทุกวัน ควรเสริมเนื้อสัตว์ ตับ ผักใบเขียว เพิ่มคุณค่าอาหาร ป้องกันขาดธาตุเหล็ก จากกรณีที่มีข่าวพบเด็กชายธีรวัฒน์ โฉมงาม หรือน้องบอล อายุ 12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดห้วยคันแหลน อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารหลักโดยไม่ใส่ผักหรือเนื้อสัตว์ใดๆ ไม่กินข้าวเหมือนคนปกติ ความคืบหน้าเรื่องนี้ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วน โดยในวันนี้ ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลวิเศษชัยชาญได้รับตัวน้องบอลไปตรวจสุขภาพ เพื่อดูความสมบูรณ์ของร่างกาย และค้นหาสาเหตุของพฤติกรรม เพื่อวางแผนให้การรักษาต่อไป บิดา-มารดาให้ประวัติว่า เด็กชายบอลเป็นบุตรคนที่ 3 ของครอบครัว แรกเกิดถึง 2 ปี กินนมแม่ หลังจากนั้นบิดาให้เด็กกินบะหมี่ ใส่ลูกชิ้น เนื้อหมู สามารถรับประทานได้ดี เคยให้กินข้าวแล้วเด็กอาเจียน ขณะนี้เด็กดื่มนม กินขนมกรุบกรอบ กินฮอทด็อก และกินหมูปิ้ง หมูทอด เป็นครั้งคราว มื้อเย็นกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลการตรวจร่างกายโดยรวมพบว่าแข็งแรงดี พัฒนาการสมวัย ส่วนสูง 154 เซนติเมตร น้ำหนัก 46 กิโลกรัม ดัชนีมวลกาย 19.4 ผลตรวจเลือดปกติ ไม่มีภาวะซีด ผลตรวจปัสสาวะปกติ สำหรับสาเหตุการติดบะหมี่เบื้องต้นสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากความเคยชิน ไม่ใช่การแพ้สารอาหารประเภทแป้งแต่อย่างใด แนะนำผู้ปกครองให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และนัดตรวจซ้ำอีกในวันที่ 24 มีนาคม 2551 ด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า บะหมี่จัดเป็นอาหารกลุ่มเดียวกับข้าว แป้ง ให้พลังงานแก่ร่างกายเป็นหลัก แต่สิ่งที่สำคัญคือผงปรุงรสในซองบะหมี่ ซึ่งมีผงโซเดียมและผงชูรส ที่จะทำให้เด็กติดรสอาหาร อยากรับประทานอยู่เรื่อยๆ โดยไม่ได้เกี่ยวกับตัวเส้นบะหมี่ ซึ่งการรับประทานบะหมี่อย่างเดียวเป็นประจำทุกวันโดยไม่รับประทานอาหารประเภทอื่นๆ จะส่งผลกระทบต่อร่างกายเด็ก อย่างแรกคือการขาดสารอาหาร เป็นหวัดง่าย เจ็บป่วยง่าย และในระยะยาวจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย เติบโตไม่เต็มศักยภาพ ที่สำคัญคือส่งผลต่อการพัฒนาสมองและความฉลาดทางปัญญา เนื่องจากโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว นม ช่วยสร้างเซลสมอง ช่วยให้ร่างกายสูงใหญ่ เติบโตเต็มศักยภาพ ผัก ผลไม้ช่วยให้ร่างกายทำงานปกติ ต่อต้านโรค วิตามินและเกลือแร่ ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันโรค อย่างไรก็ตาม การรับประทานบะหมี่ไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้าม แต่ไม่ควรรับประทานเป็นประจำทุกวัน เพราะการรับประทานซ้ำซากเพียงบางชนิดทุกวัน อาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน ซึ่งขณะนี้พบเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กที่ไม่มีอาการชัดเจน ถึงร้อยละ 30 ซึ่งธาตุเหล็กนี้พบมากในเนื้อสัตว์ ตับ ผักใบเขียวเข้ม มีผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก หากขาดจะทำให้เด็กเฉื่อยชาดังนั้น ถ้าจะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ควรเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายด้วย เช่น เติมไข่ 1 ฟองหรือเนื้อสัตว์ 1-2 ช้อนกินข้าว เติมผักใบเขียว เช่น ตำลึง ผักหวาน แครอท หรือผักพื้นบ้านที่หาได้ในท้องถิ่น เติมน้ำเพียงครึ่งถ้วยและเติมเครื่องปรุงรสเพียงครึ่งซองหรือน้อยที่สุด เนื่องจากมีรสเค็มมาก หากกินประจำจะเกินความต้องการของร่างกาย ในอนาคตอาจจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ง่าย นอกจากนี้ จะติดรสชาติอาหาร ต้องกินอาหารรสจัดตลอด และควรรับประทานผลไม้เป็นอาหารเสริมระหว่างมื้อเพิ่มเติมด้วย สำหรับกรณีน้องบอล การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยน ให้เวลาเด็ก โดยพ่อ-แม่ผู้ปกครอง รวมทั้งเพื่อนๆ ต้องเป็นแรงหนุนสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่ออาหารใหม่ๆ ชี้แจงด้วยเหตุผล หลีกเลี่ยงการบังคับหรือดุว่า ควรเริ่มให้ลองรับประทานอาหารเมนูใหม่ๆ ทีละอย่างและอย่างละน้อย ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกเมนูอาหารที่อยากรับประทานด้วยตัวเอง โดยผู้ปกครองชี้แนะอย่างใกล้ชิด และควรช่วยจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม *************************** 21 มีนาคม 2551


   
   


View 12    21/03/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ