กระทรวงสาธารณสุข ระดมผู้เชี่ยวชาญ/นักวิชาการจากใน-นอกกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งคณบดีคณะแพทย์ จัดทำแนวทางการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคโควิด19  เตรียมเสนอศูนย์บริหารโควิด

          วันนี้ (20 เมษายน 2563) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้เชี่ยวชาญ/นักวิชาการจากใน-นอกกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งผู้แทนคณบดีจากคณะแพทย์ หารือเพื่อจัดทำ(ร่าง)ข้อเสนอแนวทางการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคโควิด19ในด้านสาธารณสุข เสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

         นายแพทย์คำนวณ  อึ้งชูศักดิ์  ที่ปรึกษา กรมควบคุมโรคกล่าวว่า จากการประชุมทุกฝ่ายเห็นตรงว่าควรมีการเปลี่ยนผ่านจากวิกฤตโควิด19ในปัจจุบัน ไปสู่มาตรการสร้างความสมดุลทางการประกอบอาชีพและความปลอดภัยในการใช้ชีวิต โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ 1.หน่วยงานด้านสาธารณสุข ต้องเพิ่มความเข้มข้นมาตรการตรวจคัดกรองคนติดเชื้อในประเทศเข้มงวดกับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ มีการกักเฝ้าสังเกตอาการ 14 วันในสถานที่ที่กำหนด การค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ในชุมชนแออัด 2.คนไทยทุกคน ทุกชุมชน ทุกสังคม ต้องร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการสุขลักษณะ ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้าน การมีระยะห่างทางกาย งดการชุมนุม กลุ่มเสี่ยงยังควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน 3.ภาคธุรกิจ ต้องประเมินความเสี่ยง และปรับการดำเนินการให้มีความเสี่ยงต่ำ เช่น มาตรการตรวจวัดไข้ เว้นระยะห่างทางกาย การทำความสะอาดมือ การลดจำนวนผู้คนที่มาติดต่อใช้บริการ

4.การปิดบริการหรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูง เป็นแหล่งแพร่ระบาดได้แก่ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบริการทางเพศทั้งตรงและแฝง สนามการพนัน ต้องปิดในระยะยาว สำหรับการปิดกิจการในอนาคต ควรใช้วิธีปิดแบบจำเพาะที่เป็นปัญหา และคงความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด 5.มีระบบเฝ้าระวังตรวจจับและคาดการณ์ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เป็นการเตือนและเพิ่มมาตรการหรือผ่อนคลายมาตรการตามบริบทของแต่ละจังหวัดและมีการเฝ้าระวังโดยภาคประชาชน อสม.
ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงมาตรการเบื้องต้นที่สามารถปรับได้

       ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้ทั้ง 5 ส่วนจะค่อยๆเดินไปข้างหน้า โดยใช้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขดูจังหวัดที่มีการติดเชื้อต่ำ เริ่มจากกลุ่มจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (ประมาณ 32จังหวัด) สามารถเริ่มได้ในต้นเดือนพฤษภาคม หรืออาจนำร่องทดลองปลายเดือนเมษายน หลังจากนั้นจึงเริ่มในกลุ่มที่สองคือจังหวัดที่พบผู้ปวยติดเชื้อในพื้นที่แบบประปราย (ประมาณ 38 จังหวัด) ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม สำหรับกลุ่มที่สามคือจังหวัดที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง (ประมาณ 7 จังหวัด ) หากจังหวัดเหล่านี้สามารถลดการระบาดลงมาได้ในระดับต่ำตามเกณฑ์และไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ก็ควรให้เริ่มเปลี่ยนผ่านได้ในต้นเดือนมิถุนายน หรืออาจเริ่มก่อนหน้านั้นได้หากควบคุมสถานการณ โดยการขยับมาตรการจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน

“การเปลี่ยนผ่านจะเป็นแบบระมัดระวัง เพื่อป้องกันการระบาดระลอกที่ 2 โดยให้เกิดความสมดุลความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ภาคธุรกิจเดินหน้าได้ แต่ไม่เหมือนเดิมทุกอย่าง เช่น ไม่มีการนั่งรอในร้านตัดผม  ไม่มีการสังสรรค์กลุ่มใหญ่  ร้านอาหาร ธุรกิจบริการ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ลดความหนาแน่นของคนใช้บริการ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงสาธารณสุข คณบดีคณะแพทยศาสตร์ หอการค้า สภาอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนที่ร่วมกันวางแผนร่วมกันเสนอแนวทางการปรับมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน” นายแพทย์คำนวณกล่าว

 ******************************** 20 เมษายน 2563

****************************************

 



   
   


View 2680    20/04/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ