กระทรวงสาธารณสุข ปรับระบบบริการทางการแพทย์ใหม่ (New Normal Medical Services) พลิกวิกฤตโควิด19 สู่โอกาส แนะดูแลผู้สูงอายุป้องกันติดเชื้อ

          วันนี้ (20 เมษายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากรายงานผู้ติดโรคโควิด19 พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากคนใกล้ชิด ที่สำคัญคือกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 70 ปี หากติดเชื้อจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากสภาพร่างกายไม่แข็งแรง และมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดี หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ผู้สูงอายุจึงไม่ควรออกจากบ้าน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุติดเชื้ออาจแสดงอาการไม่ตรงไปตรงมา อาจไม่มีไข้ ตัวไม่ร้อน ไอไม่ชัด บอกไม่ได้ว่าเจ็บคอ จึงต้องสังเกตอาการอื่นด้วย เช่น หายใจเร็ว หอบ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร รับอาหารทางสายยางไม่ได้ ซึมสับสนเฉียบพลัน หรือความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็ว หากพบอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ โรงพยาบาลที่ดูแลประจำ สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 หรือสายด่วนศูนย์นเรนทร 1669

          นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวต่อว่า การปฏิบัติตัวเพื่อลดการติดเชื้อ ในกลุ่มช่วยเหลือตนเองได้ดี ขอให้อยู่บ้าน กลุ่มติดบ้านระวังติดเชื้อจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มักเข้ามาคลุกคลี กลุ่มติดเตียง ดูแลที่บ้าน ผู้ดูแลต้องระวังการติดเชื้อและแพร่เชื้อ การผลัดเปลี่ยนผู้ดูแลต้องไม่ใช่ผู้เสี่ยงติดเชื้อ และกลุ่มติดเตียง ดูแลที่สถานดูแลผู้สูงอายุ มีระบบคัดกรองผู้เยี่ยมและบุคลากร หากสงสัยติดเชื้อต้องแยกห้อง แยกของใช้ และปรึกษาแพทย์ทันที สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังหลีกเลี่ยงการไป รพ. โดยหากอาการทั่วไปดี คงที่ ผลการตรวจล่าสุดคงที่ ไม่มีปัญหา ให้รับยาทางไปรษณีย์ รับยาร้านยาใกล้บ้าน เลื่อนนัดให้นานขึ้น หรือให้คำปรึกษาทางไกล หากเป็นผู้ป่วยที่อาการแย่ลงหรือผลการตรวจล่าสุดมีปัญหา ให้มาตรวจตามนัดหรือใช้วิธีปรึกษาทางไกล แต่หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงฉุกเฉินไปห้องฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง

          นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวอีกว่า การระบาดของโรคโควิด19 ทำให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เกิดการพัฒนาและปรับระบบบริการทางการแพทย์ใหม่ (New Normal Medical Services) คือ 1.ระบบบริการใหม่ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล 2.ระบบสนับสนุนการดูแลตนเองผ่าน Application และสื่อ 3.ระบบข้อมูลด้านสุขภาพ การส่งต่อผู้ป่วยที่เชื่อมโยงกัน 4.ระบบบริการที่เข้าถึงง่ายขึ้น สะดวกรวดเร็วขึ้นด้วยระบบ IT การตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบ drive thru การรับยาร้านยาใกล้บ้าน การส่งยาทางไปรษณีย์ การปรึกษาทางไกล เป็นต้น 5.ระบบการบริหารจัดการเตียงร่วมกันระหว่างหน่วยบริการ และ6.ระบบการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล

          ทั้งนี้ การที่ผู้สูงอายุต้องอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน ร่างกายและสมองอาจถดถอยจนเกิดภาวะพึ่งพิงในระยะยาว ในการป้องกันขอให้ยึดหลัก 5 อ. ได้แก่ อาหาร ปรุงสุกใหม่ๆ เน้นโปรตีนสูงและครบ 5 หมู่ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ออกกำลังกาย เท่าที่ทำได้ตามสภาพร่างกายภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ อารมณ์ หยุดรับข่าวสารที่มากเกินไป ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หรือปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 เอนกายพักผ่อน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง/วัน ออกห่างสังคมนอกบ้าน รักษาระยะห่างจากผู้สูงอายุอย่างน้อย 2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และล้างมือทุกครั้งก่อนเข้าไปพูดคุยหรือใกล้ชิดผู้สูงอายุ

 ********************************** 20 เมษายน 2563

**************************************



   
   


View 6223    20/04/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ