รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  

ประจำวันที่ 6 มีนาคม 2563

1.สถานการณ์ ถึงวันที่ 6 มีนาคม 2563 ณ เวลา 08.00 น.           

          1. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 16 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 48 ราย

          2. ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 5 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 4,023 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 143 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 3,880 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 2,392 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,631 ราย

          3. สถานการณ์ทั่วโลกใน 84 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม –  6 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 96,953 ราย เสียชีวิต 3,310 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 80,430 ราย เสียชีวิต 3,013 ราย

 

2.สธ.พบผู้ป่วยยืนยันรายที่ 48 เป็นชายชาวอังกฤษ พร้อมส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่ประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

          กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายที่ 48 เป็นชายชาวอังกฤษ อายุ 43 ปี พร้อมส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แจ้งมาตรการรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาด       

          นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส      โคโรนา 2019 ว่า ในวันนี้ได้รับรายงานพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 1 ราย และรอผลยืนยันอีก 1 ราย เป็นแรงงานนอกระบบจากเกาหลีใต้

           โดยผู้ป่วยยืนยัน รายที่ 48 เป็นชายชาวอังกฤษ อายุ 43 ปี อาชีพที่ปรึกษาบริษัท เดินทางมาจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ระหว่างทางได้เปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ มีเสมหะ ส่งตัวรักษาต่อที่สถาบันโรคทรวงอก

          ในส่วนการคัดกรองกลุ่มแรงงานนอกระบบจากประเทศเกาหลีใต้ พบหญิงไทย อายุ 30 ปี ตรวจพบอาการไข้ ได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวานนี้ (5 มีนาคม 2563) ส่งมารักษาตามระบบที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจพบเชื้อจากห้องปฏิบัติการ 1 แห่ง อยู่ระหว่างการยืนยันจากห้องปฏิบัติการอีกแห่ง

         โดยสรุปวันนี้ มีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 31 ราย ยังรักษาตัวอยู่ใน โรงพยาบาล 16 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้ 48 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่ยังอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้สถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 24 ของโลก

         เมื่อวานนี้ (5 มีนาคม 2563) ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ. 2563 ให้ สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน (รวมมาเก๊า และฮ่องกง) สาธารณรัฐอิตาลี และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เป็นเขตติดโรคนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ พื้นที่เสี่ยงที่จะประกาศเป็นเขตติดโรคอาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ โดยพิจารณาข้อมูลสถานการณ์การระบาด เช่น จำนวนผู้ป่วยสะสม ผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนข้อมูลปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ

          ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้จะช่วยให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคกับผู้เดินทางซึ่งมาจากเขตติดโรคนอกราชอาณาจักร ได้อย่างมีประสิทธิภาพและความรวดเร็ว ทั้งนี้ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ (ผู้ว่าราชการจังหวัด,นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด,นายอำเภอ, สาธารณสุขอำเภอ, ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง เป็นต้น) มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที เช่น นำผู้สงสัยว่าป่วย มารับการตรวจ แยกกัก หรือกักกัน ณ สถานที่ที่กำหนด ดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่มีหน้าที่ต้องแจ้งเมื่อพบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค แต่ไม่ยอมแจ้งหรือไม่แจ้งภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น

          ในส่วนการดูแลแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้นั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แจ้งมาตรการรองรับแรงงานไทยกลุ่มดังกล่าว ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลแรงงานไทยกลุ่มนี้ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีแนวทางการดำเนินงานดังนี้ 1.คัดกรองที่ท่าอากาศยาน (Entry Screening) หากผู้เดินทางมีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย อย่างใดอย่างหนึ่ง จะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษา ตามระบบ กรณีตรวจไม่พบไข้ หากเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ประเทศเกาหลีใต้(เมืองแทกูและคย็องซังเหนือ) เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านฯ จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม นำตัวเข้ารับการกักกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ณ พื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐบาลกำหนด ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอื่น จะส่งไปยังสถานที่หรือพื้นที่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยการกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          2.การนำตัวผู้เดินทางไปยังพื้นที่ควบคุมโรครวมถึงการกำหนดพื้นที่ควบคุมโรคหรือสถานที่หรือพื้นที่ที่กำหนด ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด 3.การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคต้องไม่น้อยกว่า 14 วัน ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามพระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตลอดจนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

3. คำแนะนำสำหรับประชาชน

         ขอให้ประชาชนทั่วไปดูแลสุขภาพ

          1. ให้หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด

          2. หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ

          3. ใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันโรค

           ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข สถานการณ์จะดีขึ้นด้วยความร่วมมือจากประชาชน อย่าเชื่อข่าวลือจากทุกทาง “เช็คก่อนแชร์” งดแชร์ข้อมูลผู้ป่วยทางสื่อออนไลน์ และมาจากแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ เพื่อไม่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแพร่หลาย เกิดความตระหนก และมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  โปรดติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข  หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/ และ Line@/เฟสบุ๊ค: รู้กันทันโรค,Coronavirus2019, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ประชาชนสามารถตรวจสอบข่าวลวงได้ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม www.antifakenewscenter.com

 

******************* 6 มีนาคม 2563



   
   


View 4762    06/03/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ