“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 165 View
- อ่านต่อ
รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ประจำวันที่ 2 มีนาคม 2563
1.สถานการณ์ ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2563 ณ เวลา 08.00 น.
1. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 43 ราย
2. ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 1 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 3,252 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 95 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 3,157 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,872 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,380 ราย
3. สถานการณ์ทั่วโลกใน 66 ประเทศ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 2 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 88,282 ราย เสียชีวิต 3,000 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 79,828 ราย เสียชีวิต 2,870 ราย
2.สธ.เผยผู้ป่วยยืนยันกลับบ้านได้ 1 ราย และพบผู้ป่วยเพิ่ม 1 ราย
กระทรวงสาธารณสุขเผยมีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้เพิ่ม 1 ราย และได้รับการยืนยันพบผู้ป่วยเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงไทยอาชีพ ดูแลนักท่องเที่ยว พร้อมขยายเกณฑ์การเฝ้าระวังสอบสวนโรคผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อน 5 คนขึ้นไป เป็นการยกระดับความไวการตรวจจับการติดเชื้อในชุมชน
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยยืนยันกลับบ้านเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 43 ปีจากโรงพยาบาลราชวิถี (กลับจากญี่ปุ่น) และได้รับการยืนยันพบผู้ป่วยเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 22 ปี อาชีพดูแลนักท่องเที่ยว เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 37 (ชายไทย พนักงานขับรถให้นักท่องเที่ยว) ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย เสียชีวิต 1 รายรวมสะสม 43 ราย
ทั้งนี้เพื่อให้การเฝ้าระวังคัดกรองการติดเชื้อในชุมชนมีความครอบคลุมมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสอบสวนโรค โดยขยายเกณฑ์การเฝ้าระวังในการป่วยเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ของผู้มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจำนวน 5 คนขึ้นไป โดยพบผู้ป่วยในสถานที่แห่งเดียวกัน ในช่วงสัปดาห์เดียวกัน เป็นการยกระดับความไวในการตรวจจับการติดเชื้อในชุมชน ในส่วนการเฝ้าระวังในสถานพยาบาล หากพบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น, หาสาเหตุไม่ได้, มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตโดยหาสาเหตุไม่ได้ จะทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อโรคติดต่อ 2558 จำนวน 8 ท่าน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 โดยมีหน้าที่และอำนาจให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการประกาศพื้นที่เขตติดโรค และให้คำแนะนำแก่อธิบดีกรมควบคุมโรค ในการประกาศโรคระบาด ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรืออธิบดีกรมควบคุมโรค ในการประกาศยกเลิก เมื่อสภาวการณ์ของโรคสงบลงหรือมีเหตุอันควร และปฏิบัติการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซักซ้อมแผนรองรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 เตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานระดับพื้นที่ ให้ทุกจังหวัดปรับใช้ขั้นตอนการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม เพิ่มทักษะบุคลากรในระบบบัญชาการเหตุการณ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติการ ดังนี้ 1.ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ ทั้งในและช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อย่างเคร่งครัด 2.ปฏิบัติตามแนวทางการวินิจฉัย การดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่กรมการแพทย์และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งประสานการปฏิบัติหน่วยบริการสาธารณสุขทุกหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เกิดการบูรณาการด้านการรักษา เพื่อประสิทธิภาพการรักษาสูงสุด
3.บริหารจัดการทรัพยากรที่จำเป็น 18 รายการทั้งในระดับจังหวัดและเขตสุขภาพ โดยประสานการปฏิบัติกับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ให้พร้อมใช้คุ้มค่า และความปลอดภัยสูงสุดของผู้ปฏิบัติงาน 4.กรณีประชาชนเดินทางกลับมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด และสถานที่ที่มีการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกันของประชาชนจำนวนมาก ขอให้ดำเนินการตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
5.เน้นมาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใช้หน้ากากผ้า การทำความสะอาดจุดสัมผัสต่างๆ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยการมีส่วนร่วมของ อสม. และภาคประชาชน 6.ประชุมและสั่งการในระดับจังหวัดและระดับเขตอย่างต่อเนื่อง ยกระดับการปฏิบัติงานโดยใช้ กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด และเตรียมพร้อมกรณีหากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการแพร่กระจายในวงกว้าง ตั้งเป้าให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีความเข้าใจและสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อตอบโต้สถานการณ์ จัดการอุปสรรคและสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกกระทรวง
สำหรับกรณีสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้มีหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าประสบปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการสำรวจความต้องการการใช้หน้ากากอนามัยของโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในภาพรวมของประเทศตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเสนอกระทรวงพาณิชย์เพื่อบรรเทาปัญหาต่อไป และในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้แจกหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนคนละ 3 ชิ้น เป็นไปตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ในการป้องกันโรค ซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่จัดสรรให้กับโรงพยาบาลในสังกัด
3. คำแนะนำสำหรับประชาชน
3.1 ประชาชนที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการรายงานพบผู้ป่วย หลังเดินทางกลับประเทศไทยภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไอ เสมหะ หายใจเร็ว หอบให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
3.2 ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด และหากจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด ขอให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต
การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย
3.3 ประชาชนทั่วไป ขอให้ดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศแปรปรวน ใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากป้องกันโรค เวลาไอ จาม หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ
******************************** 2 มีนาคม 2563
********************************************