รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  

ประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563

1.สถานการณ์ ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ณ เวลา 08.00 น.        

          1. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 16 ราย กลับบ้านแล้ว 19 ราย รวมสะสม 35 ราย

          2. ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,151 ราย คัดกรองจากสนามบิน 58 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 1,093 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 941 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 210 ราย

         3. สถานการณ์ทั่วโลกใน 28 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 21 กุมภาพันธ์ 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 76,202 ราย เสียชีวิต 2,247 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย
75,000 ราย เสียชีวิต 2,236 ราย

2. สธ.เผยข่าวดีผู้ป่วยยืนยันกลับบ้านได้ 2 ราย นำเชื้อผู้ป่วยยืนยัน2รายแรกของไทยพัฒนาชุดตรวจ/วัคซีน
โรคไวรัสโคโรนา 2019

          กระทรวงสาธารณสุข เผยข่าวดีผู้ป่วยยืนยันกลับบ้านได้ 2 ราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยยืนยัน 2 รายแรกของไทย ไปพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พัฒนาวัคซีนป้องกันโรค รวมทั้งแบ่งปันเชื้อให้องค์การอนามัยโลกนำไปต่อยอดเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลก

          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยนายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีข่าวดี ผู้ป่วยยืนยันกลับบ้านได้เพิ่มอีก 2 ราย ชายชาวจีน อายุ 56 ปี และอายุ 34 ปี จากสถาบันบำราศนราดูร เหลือนอนในโรงพยาบาล 16 คน รวมมีผู้ป่วยยืนยันรักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 19 ราย ในส่วนผู้ป่วยใช้เครื่องเอคโม (ECMO) หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด อาการคงที่ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อแล้ว ส่วนรายที่เป็นวัณโรคร่วมด้วย ยังตรวจพบเชื้ออยู่ อาการคงที่ยังคงใช้เครื่องช่วยหายใจทั้ง 2 ราย ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ไทย จากหลายหน่วยงานได้ร่วมกันทำการทดลองทางห้องปฏิบัติการ ค้นพบว่าสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรของประเทศไทย สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสได้ในหลอดทดลอง ซึ่งจะได้นำมาพัฒนาต่อยอดกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หากได้ผลเป็นที่น่าพอใจก็จะทำการขยายผลต่อไป

         สำหรับกรณีผู้ป่วย Super Spreader ที่พบจากการรายงานข่าวในต่างประเทศนั้น จะเป็นผู้ที่มีเชื้อในร่างกายจำนวนมากสามารถแพร่ให้ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ ลักษณะดังกล่าวนี้ ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากไทยมีระบบเฝ้าระวังควบคุมโรคที่เข้มแข็ง ทำให้สามารถตรวจจับผู้อาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังและนำมาแยกเก็บตัวไว้ในห้องแยกได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่ไปแพร่สู่ผู้อื่นได้  นอกจากนี้ประเทศไทยยังมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ สามารถบังคับผู้ที่สงสัยว่าป่วยนำเข้ามาสู่ระบบการรักษาได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจและให้ความร่วมมือกับทางราชการ เพื่อความปลอดภัยของคนในประเทศ ส่วนการติดตามผู้โดยสารและลูกเรือชาวไทยบนเรือสำราญไดมอนด์ ปริ้นเซส  3 ราย ทั้งหมดตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และออกจากเรือเรียบร้อยแล้ว  

          เน้นย้ำ ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายห้ามการเดินทางไปยังพื้นที่ระบาดของโรค หากจำเป็นต้องไป ขอให้ระมัดระวัง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ หรือเจลล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย เมื่อไปอยู่ในที่คนจำนวนมาก เมื่อกลับประเทศไทย ทุกคนจะผ่านการคัดกรองที่สนามบิน ในส่วนผู้ที่ไม่มีไข้ อาการไม่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค สามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ขอแนะนำให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง หากป่วย มีไข้ไอ มีน้ำมูก ภายใน 14 วัน ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง หากพบมีไข้ ไอ มีน้ำมูก หรือมีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค จะถูกนำไปตรวจเพิ่มที่โรงพยาบาล

          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยไวรัสโคโรนา 2019 รายที่แรกและรายที่สองของประเทศไทย ไปถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นำมาพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยเทคนิค Real time RT –PCR พัฒนาวัคซีนป้องกันโรค รวมทั้งแบ่งปันเชื้อให้องค์การอนามัยโลกนำไปต่อยอดเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลก นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการให้พร้อมรับมือสถานการณ์ระบาดฉุกเฉิน ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ  โดยเริ่มที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 13 แห่ง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในขยายไปยังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่ 5 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ 2563 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ รวม 1,489 ตัวอย่าง    

          ด้านนายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกได้ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม  โดยในวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 จะมีการลงนามความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของสารสกัดฟ้าทะลายโจร รวมถึงสมุนไพรอื่น เพื่อดูกลไก ประสิทธิภาพของสมุนไพรไทยต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเดิมได้มีการศึกษาเรื่องสารสกัดฟ้าทะลายโจรอยู่แล้วว่ามีฤทธิ์ในเชิง Antiviral broad spectrum เช่น ฤทธิ์การต้านไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ การเพิ่มภูมิคุ้มกัน หรือการต้านการอักเสบ ทำให้มีการใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

           โดยในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ความรู้ในการป้องกันโรค ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย ที่ โรงเรียนวัดโพธิ์ ท่าเตียนและมหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ในการทำความสะอาดสถานที่ ที่วัดโพธิ์ ท่าเตียนและโรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี

3.ข้อแนะนำประจำวันในการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

          ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น และปฏิบัติตามคำแนะนำ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” อย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่สะอาดเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก สำหรับผู้ป่วยและผู้ที่มีอาการ ไอ จาม ควรใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ สำหรับหน้ากากอนามัยประเภท N95 จะใช้ในเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาใกล้ชิดกับผู้ป่วย

 

 *************************************  21 กุมภาพันธ์ 2563



   
   


View 3204    21/02/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ