กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกรุงเทพมหานคร แก้ไขปัญหาบาดเจ็บ เสียชีวิต และพิการ จากการจราจรทางถนนที่ กทม.ครองแชมป์ 6 ปีซ้อน ตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุการจราจรทางถนนเหลือครึ่งหนึ่งภายในปี 2563

          วันนี้ (23 ธันวาคม 2562) ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา กรุงเทพมหานคร  ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา “การบูรณาการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตกับการป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน” ร่วมกับพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และประกาศนโยบาย “มหานครปลอดภัย ปลอดอุบัติภัยทางถนน” ของกรุงเทพมหานคร  โดยมีนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ จากกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม 310 คน

          ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 22,000 คน ใน 15 ปีมียอดผู้เสียชีวิตสะสมมากถึง 400,000 คน จัดเป็นลำดับ 9 ของโลก โดยกรุงเทพมหานครมีผู้เสียชีวิตจากการจราจรทางถนนเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ 6 ปีซ้อน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 232,000 ล้านบาท และยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของญาติพี่น้อง ลูก พ่อ แม่ ของผู้เสียชีวิต หรือ ผู้พิการในระยะยาว

          กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน พัฒนากลไกการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับเขต (พชข.) แก้ไขปัญหา ป้องกันการบาดเจ็บ เสียชีวิต และพิการจากการจราจรทางถนน โดยยกระดับข้อมูลจาก 3 ฐาน เป็น 3 ฐานพลัส นำข้อมูลผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตำรวจ และมรณะบัตรจากกระทรวงสาธารณสุขมาบูรณาการ เพิ่มข้อมูลจากสถาบันนิติเวชอีก 7 แห่ง มาวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มเหล้า จุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุ เช่น ทางโค้ง ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ นำไปใช้วางแผนการดำเนินงาน เช่น การตรวจสมรรถนะของผู้ขับขี่รถสาธารณะ โดยการใช้ Fit for Drive ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุการจราจรทางถนนเหลือครึ่งหนึ่ง ตามนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือไม่เกิน 10 ต่อประชากรแสนคน ภายใน พ.ศ.2563 ภายใต้กรอบทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 8 มาตรการ คือ 1.ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 2.ลดพฤติกรรมเมาแล้วขับ 3.แก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงจุดอันตราย 4.ปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะให้ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด 5.ยกมาตรฐานยานพาหนะโดยเฉพาะมาตรฐานของรถจักรยานยนต์ รถกระบะ รถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุก 6.พัฒนาสมรรถนะของผู้ใช้รถใช้ถนน ให้มีความปลอดภัย 7.พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ให้การบริการเข้าถึงผู้บาดเจ็บได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว และ8.พัฒนาระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนของประเทศให้มีความเข้มแข็ง

 ***************************          23 ธันวาคม 2562

************************************************



   
   


View 504    23/12/2562   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ