“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 314 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ บำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชจากสารเสพติดของกรมคุมประพฤติด้วย แนวคิดชุมชนบำบัดแห่งเดียวของกรมสุขภาพจิต ได้ผลดีไม่กลับไปเสพซ้ำภายใน 1 ปี ถึงร้อยละ 64
วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2562) ที่ จ.สุราษฏร์ธานี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยม “ศูนย์สาธิตจิตสังคมบำบัด” และให้กำลังใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฏร์ธานี ว่า โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ เป็นโรงพยาบาลเดียวของกรมสุขภาพจิตที่มีสถานที่เฉพาะสำหรับบำบัดและฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้สารเสพติดที่กรมคุมประพฤติส่งมาบังคับบำบัดแบบไม่เข้มงวด ไม่ปะปนกับผู้ป่วยจิตเวชอื่น ด้วยแนวคิดชุมชนบำบัด ใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชนจำลองเสมือนบ้าน ช่วยเหลือกันเหมือนคนในครอบครัว มีบทบาทหน้าที่ รับผิดชอบตามความสามารถ ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม เน้นการจัดการ 4 ด้าน คือ พฤติกรรม อารมณ์ สติปัญญาและจิตวิญญาณ อาชีพและการอยู่รอด มีเป้าหมายกระตุ้นให้ผู้ป่วยมุ่งมั่นในการเลิกยา หยุดการใช้สารเสพติด ป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ เพิ่มศักยภาพด้านพฤติกรรม จิตใจ อารมณ์ และสังคม มีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม
โดยผู้ป่วยจากการใช้สารเสพติดที่เข้ารับการบำบัดทุกคน จะต้องเข้ารับการบำบัดนานถึง 4 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมได้ โดยผลการดำเนินงานพบว่าได้ผลดี มีผู้บำบัดครบระยะที่กำหนดถึงร้อยละ 87 ที่สำคัญคือผู้ป่วยไม่กลับไปเสพสารเสพติดซ้ำในระยะ 1 ปี คิดเป็นร้อยละ 64
นอกจากนี้ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ยังเป็นศูนย์เชี่ยวชาญจิตเวชผู้สูงอายุของภาคใต้ เพื่อเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาซับซ้อนกว่าผู้ป่วยกลุ่มอายุอื่น อาการเจ็บป่วยไม่ตรงไปตรงมาจากสภาพร่างกายเสื่อมถอย ต้องให้การบำบัดทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยา เช่น การนวดฝ่าเท้าด้วยลูกแก้ว ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด สวนบำบัด การบำบัดด้วยแสงสว่าง ปรับสภาพแวดล้อมคล้ายอยู่ที่บ้าน ป้องกันการลื่นล้ม หกล้ม รวมทั้งได้สร้างเครื่องมือคัดกรองโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ รักษาผู้สูงอายุจากจิตเวชเรื้อรังและจิตเวชจากการใช้สารเสพติดอีกด้วย
สำหรับโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ เป็นโรงพยาบาล ขนาด 450 เตียง รับดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน 7 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช มีผู้รับบริการแผนกผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 280 คน ผู้ป่วยใน 300 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเก่าที่อาการซับซ้อนไม่สามารถรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดได้ โดยโรคที่มารับบริการมากที่สุดคือ จิตเภท ร้อยละ 30 รองลงมาโรควิตกกังวล ซึมเศร้า และที่น่าสนใจคือ มีผู้ป่วยที่เป็นผู้ใช้สารเสพติดมีแนวโน้มเข้ารับบริการมากขึ้นทุกปี
******************************** 16 พฤศจิกายน 2562