“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 312 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาล ติดตามสถานการณ์จังหวัดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ และแผนบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคของสถานพยาบาลในพื้นที่ฝนทิ้งช่วง ล่าสุดโรงพยาบาลสุรินทร์พ้นวิกฤตน้ำ ไม่มีผลกระทบบริการผู้ป่วยและประชาชน
บ่ายวันนี้ (13 สิงหาคม 2562) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่ 44 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนทิ้งช่วง และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามสถานการณ์การขาดแคลนน้ำในสถานพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง ข้อมุลล่าสุดมีพื้นที่เสี่ยงสูง 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ศรีสะเกษ นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ และกำแพงเพชร โดยขณะนี้ แต่ละจังหวัดได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของสถานพยาบาล สำรวจปริมาณการใช้น้ำปกติ และปริมาณการใช้น้ำตามแผนฯ และได้ประสานกับหน่วยงานในจังหวัด อาทิ ทหาร การประปาภูมิภาค บาดาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดหาแหล่งน้ำสำรองให้พอเพียงสำหรับจัดบริการ โดยเฉพาะในหน่วยบริการสำคัญ เช่น ห้องผ่าตัด หน่วยฟอกไต ห้องไอซียู ทั้งนี้ส่วนกลางพร้อมให้การช่วยเหลือสนับสนุน ขอให้แจ้งมายังกองสาธารณสุขฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า จากการที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจเยี่ยมและแก้ไขปัญหาที่โรงพยาบาลสุรินทร์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ข้อมูลล่าสุดในวันนี้พบว่าโรงพยาบาลได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) เจาะบ่อบาดาล และหน่วยงานในพื้นที่ในการขนน้ำ จัดหาแหล่งน้ำเพิ่ม และได้เจาะบ่อบาดาลแล้วเสร็จ 8 บ่อทำให้มีปริมาณน้ำใช้เพิ่ม 800,000 ลิตรต่อวัน โดยน้ำที่ได้จะผ่านระบบการกรองปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพียงพอทั้งห้องผ่าตัด ห้องปฏิบัติการ หน่วยไต และหน่วยบริการอื่น ๆ ทำให้ไม่กระทบต่อบริการประชาชน แต่อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลสุรินทร์ยังคงมาตรการประหยัดน้ำจนกว่าจนกว่าสถานการณ์น้ำประปาในตัวเมืองจะเข้าสู่ภาวะปกติ
“รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องมีมาตรการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอบริการประชาชน ทั้งแผนจัดหา แผนสำรองน้ำ และมาตรการประหยัดน้ำ และให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและให้การสนับสนุน” นายแพทย์สุขุมกล่าว
ขณะนี้ ยังไม่มีโรงพยาบาลใดขาดแคลนน้ำขั้นวิกฤตกระทบต่อผู้ป่วย ขอให้จังหวัดพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์เตรียมแผนจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ เป็นต้น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เตรียมยาและเวชภัณฑ์ สำรองเก็บกักน้ำไว้ใช้ในงานบริการและการอุปโภคบริโภคของเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ รวมทั้งขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการในการประหยัดน้ำ
*************************************** 13 สิงหาคม 2562
***************************************************