กระทรวงสาธารณสุขยันโรงพยาบาลบางใหญ่ดูแลน้องแพรว เหยื่อไข้เลือดออกที่เสียชีวิตเต็มที่ ให้การรักษาตามมาตรฐาน ด้านผู้เชี่ยวชาญโรคไข้เลือดออกยืนยันยาคอลลอยด์ที่ใช้รักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกเพื่อทดแทนน้ำเหลืองมีความจำเป็นเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น อีกร้อยละ 80 สามารถดูแลประคับประคองตามอาการได้
จากกรณีที่นางไพรวัน ทากางิ ฟ้องกระทรวงสาธารณสุขในฐานะต้นสังกัดของโรงพยาบาลบางใหญ่ในข้อหาละเมิดทำให้ลูกสาวคือน้องแพรว อายุ 15 ปี เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก โดยเรียกค่าเสียหาย 10 ล้านบาท
เกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับการร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2550 และตั้งคณะกรรมการสอบสวนเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 โดยน้องแพรวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบางใหญ่เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2549 โดยโรงพยาบาลบางใหญ่ได้ให้การรักษาโรคไข้เลือดออกตามแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออกเฉลิมพระเกียรติ ปี 2548 ของโรงพยาบาลชุมชน ในวันที่ 29 ตุลาคม 2549 ประมาณเวลา 01.00 น.อาการน้องแพรวอยู่ในภาวะช๊อคระดับที่ 2 แต่ยังรู้สึกตัวดีอยู่ จึงได้ส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าซึ่งเป็นโรงพยาบาลจังหวัด เพื่อให้ได้รับการดูแลโดยแพทย์เฉพาะทาง เมื่อไปถึงได้รับการดูแลโดยมีการให้ยาเดกซ์แตรน (Dextran) ซึ่งเป็นคอลลอยด์(colloid) ชนิดหนึ่ง ที่ใช้เป็นยารักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำเหลืองเข้าไปในช่องปอดและช่องท้อง
แต่เนื่องจากห้องผู้ป่วยหนักที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเต็ม ทางโรงพยาบาลจึงรับตัวผู้ป่วยไว้ที่ ตึกอายุรกรรมโดยได้ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และเวลาประมาณ 05.00 น.มารดาผู้ป่วยได้นำตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลนนทเวช จังหวัดนนทบุรี และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2549 เวลาประมาณ 09.30 น. ซึ่งขอยืนยันว่าทางทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งได้ดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด ในเบื้องต้นทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีได้พิจารณาชดเชยค่าเสียหายตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นเงิน 120,000 บาท แต่ทางมารดาผู้เสียชีวิตต้องการ 200,000 บาท ซึ่งเกินอำนาจการจัดการของจังหวัดจึงต้องส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ยกคำฟ้องเนื่องจากโรงพยาบาลบางใหญ่ได้ทำการรักษาน้องแพรวตามแนวทางการรักษาโรคไข้เลือดออกเฉลิมพระเกียรติ ปี 2548แล้ว
ด้านศาสตราจารย์คลินิก (พิเศษ)แพทย์หญิงศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ หัวหน้าศูนย์โรคไข้เลือดออกสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี กล่าวว่า ยาคอลลอยด์ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกนั้น เป็นยาที่มีความเข้มข้นกว่าน้ำเลือด จะให้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการสูญเสียน้ำเหลืองมาก ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกมีความจำเป็นใช้ยาชนิดนี้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น อีกร้อยละ 80 สามารถให้การรักษาตามอาการเพื่อป้องกันภาวะช็อค โดยยาคอลลอยด์ขณะนี้มีใช้ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง ส่วนโรงพยาบาลชุมชนนั้นมีใช้เป็นบางแห่ง แต่ไม่ใช่ปัญหาในการรักษาแต่อย่างใด เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยและทำงานอย่างเป็นเครือข่าย เพื่อดูแลประชาชนอย่างดีที่สุดอยู่แล้ว
5 กุมภาพันธ์ 2551
View 11
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ