“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 348 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย เตรียมความพร้อมด้านแพทย์และสาธารณสุข ดูแลคนไทยเดินทาง ไป-กลับปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์ ลดการบาดเจ็บจากการจราจร เข้มการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่กรณีอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
วันนี้ (10 เมษายน 2562) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พลตำรวจตรี บุญเลิศ ว่องวัจนะ ผู้บังคับการกองแผนงานความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายกฤตเพชร เพชระบูรณิน หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และทพ.ดร.สุปรีดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว “สธ.ร่วมใจปกป้องคนไทย ไป-กลับปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์”
นายแพทย์ธวัชกล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนที่เดินทาง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2562 กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมทุกหน่วยงาน ดูแลประชาชน เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลในการดูแลผู้บาดเจ็บ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่กรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยข้อมูลสงกรานต์ในปีที่ผ่านมาพบว่ามีสาเหตุมาจากขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ขับรถปาดหน้ากระชั้นชิด และหลับใน จึงได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เคร่งครัดการเฝ้าระวังการกระทำผิดและบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทั้งสถานที่ห้ามขาย/ห้ามดื่ม การขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีและผู้เมาสุรา การขายในช่วงเวลาห้ามขาย กวดขันการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตโซนนิ่งเล่นน้ำสงกรานต์
การใช้มาตรการทางสังคมและชุมชน ให้สมาชิกในครอบครัวตักเตือนคนในครอบครัวเพื่อป้องกันการสูญเสียจากการดื่มแอลกอฮอล์ ให้อสม. สำรวจ ตรวจ/เตือน/ติดตามกลุ่มเสี่ยงที่อาจบาดเจ็บในช่วงเทศกาล ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ “เคาะประตูบ้าน” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจประชาชนในเรื่องการขาย/การดื่มแอลกอฮอล์ ประชาสัมพันธ์ร้านขายสุราในชุมชน และร่วมดำเนินการด่านชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งเสนอข้อมูลเพื่อชี้ประเด็นความเสี่ยง/จุดเสี่ยงในพื้นที่ ผ่านศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด/อำเภอ เข้มข้นการดำเนินงานใน 138 อำเภอเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมีการเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 80 ของอุบัติเหตุทั้งหมดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะวันที่มีการเฉลิมฉลอง 13-15 เมษายน ในพื้นที่ถนนสายรองและเน้นในกลุ่มเยาวชน
นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงสงกรานต์ ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ตลอดช่วงเทศกาล ให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด สำรองเตียงรับผู้ป่วย คลังเลือด เวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 วิทยุสื่อสาร อินเทอร์เน็ต ระบบสารสนเทศฯ พร้อมใช้งาน และระบบรับส่งต่อผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีหน่วยปฏิบัติการทั้งสิ้น 20,238 หน่วย ประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการระดับสูง (Advanced Life Support : ALS) หน่วยปฏิบัติการระดับพื้นฐาน (Basic Life Support : BLS) และหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (First Responder: FR) พร้อมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่กู้ชีพทั้งภาครัฐ เอกชน และมูลนิธิต่าง ๆ ทั้งประเทศกว่า 1.67 แสนคนประชาชนประสบเหตุแจ้ง 1669 สำหรับการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่กรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตตามที่ตำรวจร้องขอ ให้ดำเนินการตามแนวทางการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด โดยไม่เรียกเก็บเงินจากตำรวจ นอกจากนี้ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งต้องดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยรถพยาบาล พนักงานขับรถต้องผ่านการฝึกอบรม ปฏิบัติตามกฎจราจรเคร่งครัด ติดตั้งและควบคุมด้วยระบบ GPS และกล้องบันทึกภาพ
ด้านนายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ปี 2561 พบว่า สัดส่วนของผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับลดลงจากร้อยละ 43 เป็นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปี 60 ผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับบาดเจ็บลดลงร้อยละ 7.4 เสียชีวิตลดลงร้อยละ 30.4 โดยเฉพาะในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี บาดเจ็บลดลงร้อยละ 14.5 เสียชีวิตลดลงร้อยละ 66.7 ดังนั้นตลอดปี 2562 กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2561 จนถึงเดือนมีนาคม 2562 มีการส่งตรวจทั้งสิ้น 1,899 ราย พบมีแอลกอฮอล์ในเลือดร้อยละ 61 และที่เกินกฎหมายกำหนดร้อยละ 58
สำหรับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบมีการกระทำผิด ทั้งการขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย การขายให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี กรมควบคุมโรค จึงได้ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วงก่อนเทศกาล และในช่วงเทศกาล จัดทีมเจ้าหน้าที่ออกตรวจเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายอย่างจริงจัง หากพบเห็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามขาย เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานบริการสาธารณสุข ร้านขายยา สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สวนสาธารณะของทางราชการ รวมถึงขายในเวลาห้ามขาย การเร่ขาย และการโฆษณาส่งเสริมการขาย โทรแจ้งที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมายเลข 0 2590 3342 หรือสายด่วน 1422 ได้ตลอด 24 ชม.
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้บริการสอบเทียบและปรับตั้งค่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ เพื่อให้เครื่องตรวจวัดค่าปริมาณแอลกอฮอล์อย่างถูกต้อง แม่นยำ ใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี โดยใช้วัสดุอ้างอิงรับรองเป็นสารมาตรฐานในการเทียบค่า ซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และจะติดสติกเกอร์รับรองไว้ที่ตัวเครื่อง โดยแต่ละปี มีเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจส่งมาสอบเทียบตามรอบระยะเวลาคือทุก 6 เดือน กว่า 4,000 เครื่อง และบริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่สถานพยาบาลส่งตรวจ ทราบผลภายใน 7-10 วันทำการ ให้ผลเที่ยงตรงและแม่นยำ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ได้ตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 913 ราย พบผู้ขับขี่ที่เมาสุราคือมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ร้อยละ 55
ด้านนายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในการเดินทางแนะนำให้ประชาชนพกติดตัวไว้คือ ยาหอมเทพจิตร ใช้แก้ลมบำรุงหัวใจ ยาหอมทิพโอสถ แก้ลมวิงเวียน ยาหอมอินทจักร แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด ยาหอมนวโกฐ แก้ลมคลื่นเหียน อาเจียน หรือยาดมสมุนไพรเพื่อช่วยบรรเทาอาการเบื้องต้น หากเดินทางไกล ควรแวะพักและยืดเหยียดร่างกายด้วยท่าฤาษีดัดตน ช่วยกระตุ้นเลือดลมได้ โดยเฉพาะการนวดหน้า ช่วยให้สดชื่นขึ้น
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนดำเนินการสนับสนุนการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมา ตั้งแต่ปี 2546 ทำต่อเนื่องทั้งปีไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาล เช่น การร่วมมือกับตำรวจภูธรภาค 4 ฝึกอบรมอาสาสมัครตำรวจหญิง “กองร้อยน้ำหวาน” นำร่องใน 6 จังหวัด รวม 48 ตำบล ให้เข้ามาร่วมตั้งด่านชุมชนในตำบล/หมู่บ้าน คอยตรวจเตือนพี่น้องให้มีพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย และชวนตั้งเป้าหมาย “ตายเป็นศูนย์ในชุมชนหมู่บ้าน” อีกหนึ่งมาตรการสำคัญในสงกรานต์ คือผลักดัน “การจัด Zoning พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า” ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุก ขณะนี้มีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ามากกว่า 164 พื้นที่ รู้จักกันดีในนามถนนตระกูลข้าว 51 แห่งทั่วประเทศ และยังผลิตคลิปวิดีโอรณรงค์ผ่านบทเพลง “คิดถึงบ้าน” ขับร้องโดย คุณเอ๊ะ จิรากร สมพิทักษ์ เพื่อเตือนสติให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านอย่างระมัดระวัง มีกระแสตอบรับอย่างดี
******************************************* 10 เมษายน 2562