กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายพื้นที่ พร้อมดูแลประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ เข้มมาตรการดื่มไม่ขับ ไม่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีและคนเมา ไม่ขายนอกเวลา ใช้มาตรการ “เคาะประตูบ้าน” สำรวจกลุ่มเสี่ยงเมาสุราในชุมชน และยึดกุญแจรถ เตรียมความพร้อมโรงพยาบาล ทีมแพทย์ฉุกเฉิน ระบบส่งต่อ สำรองเตียง

          วันนี้ (9 เมษายน 2562) นายแพทย์สุขุม  กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลบางปะกง และโรงพยาบาลพุทธโสธร  ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งสงกรานต์ปีที่ผ่านมามีผู้บาดเจ็บ 3,897 ราย เสียชีวิต 400 กว่าราย ได้ให้ผู้บริหารระดับสูงตรวจเยี่ยมดูความพร้อมทั้งมาตรการเชิงรุกและเชิงรับ โดยเชิงรุกให้บูรณาการหน่วยงานท้องถิ่น ให้ อสม. ร่วมสำรวจจุดเสี่ยงและร่วมตั้งด่านชุมชน  เน้นรณรงค์ให้ความรู้เช่น การใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงอุบัติเหตุ และมาตรการเชิงรับ เตรียมความพร้อมโรงพยาบาล หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน รถพยาบาลฉุกเฉิน เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ เวชภัณฑ์ ยา ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 ศูนย์รับส่งต่อ ทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว ลดการเสียชีวิต และความพิการให้ได้มากที่สุด โดยจากการตรวจเยี่ยมพบว่า โซนภาคตะวันออก ซึ่งติด 1 ใน 3 ที่เกิดอุบัติเหตุมากทุกปี ได้มีการเตรียมพร้อมห้องฉุกเฉิน ครุภัณฑ์ อุปกรณ์ต่าง ๆ คลังเลือด และขอเตือนผู้ขับขี่ ต้องไม่ขับเร็ว ไม่ดื่มสุรา ไม่ใช้มือถือขณะขับรถ สวมหมวกกันน๊อค/คาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่

          ด้านนายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลขอนแก่น และโรงพยาบาลกมลาไสย ซึ่งได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) และระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incidence Command System : ICS) เพื่อดูแลประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 ในปีที่ผ่านมาเขตภาคอีสานมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าค่าเป้าหมายและสูงกว่าอัตราเสียชีวิตจากการบาดเจ็บทางถนนภาพรวมประเทศ เขตสุขภาพที่ 7 จึงได้ร่วมมือเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครอาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด่านชุมชน ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ปฏิบัติงานตามมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสกัดผู้ดื่มแล้วขับไม่ให้ออกจากหมู่บ้าน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าในหมู่บ้านไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีและผู้ที่เมาสุรา ไม่ขายในสถานที่ห้ามขาย และไม่ขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด ขายได้เฉพาะเวลา 11.00 น. - 14.00 น. และ 17.00 น. – 24.00 น. พร้อมให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ สนับสนุนมาตรการเมาไม่ขับหากผู้ขับขี่ไม่ยอมตรวจให้ถือว่าเมา และเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้

         นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2561 จังหวัดสุพรรณบุรี  เกิดอุบัติเหตุ 59 ครั้ง บาดเจ็บ 276 คน เสียชีวิต 11 ราย มีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 ของเขตสุขภาพที่ 5 มากกว่าครึ่งเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ จึงได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด รณรงค์ลดการบาดเจ็บจากจราจร ส่งจิตอาสา อาสาสมัครสาธารณสุข กลุ่มสตรีอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน  “เคาะประตูบ้าน” สำรวจกลุ่มเสี่ยงเมาสุราในชุมชน และมีมาตรการ ยึดกุญแจรถ มีด่านชุมชน ชะลอความเร็วรถ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ได้จัดช่องทางด่วนสำหรับผู้บาดเจ็บจากการจราจร ระบบส่งต่อ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา ห้องผ่าตัด 3 ห้อง สำรองเตียงผู้ป่วย ยาเวชภัณฑ์ คลังเลือด และส่งหน่วยปฐมพยาบาลประจำจุดเล่นน้ำสงกรานต์ด้วย 

 ***********************************    9 เมษายน 2562

สถานที่ : โรงพยาบาลบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

 

สถานที่ : โรงพยาบาลกมลาไสย จ.ขอนแก่น และโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์

 

สถานที่ : โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี

****************************

 



   
   


View 1278    09/04/2562   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ