กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงนามความร่วมมือ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน ตั้งศูนย์บริการในโรงพยาบาลนำร่อง 32 แห่ง เพื่อให้คนพิการและผู้ดูแลเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมาย เป็นต้นแบบขยายศูนย์บริการในชุมชน

         วันนี้ (3 เมษายน 2562) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กทม. นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงนามความร่วมมือระดับนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน ว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความสำคัญกับผู้พิการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 2 กระทรวงจะพัฒนาศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขนำร่องทั้ง 32 แห่ง อำนวยความสะดวกคนพิการในชุมชนเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายกำหนด ได้รับการดูแลรักษา ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟู และให้บุคลากรของโรงพยาบาล นิสิตนักศึกษาที่มาฝึกอบรมในโรงพยาบาล มีความรู้ความเข้าใจ สามารถทํางานกับคนพิการ นำผลวิจัยไปพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมทั้งสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้คนพิการที่ได้รับการจ้างงานตามมาตรา 33 และ 35 เกิดการรวมกลุ่ม ชมรม หรือสมาคม เป็นต้นแบบให้กับศูนย์บริการคนพิการทั่วไปในชุมชน ที่จัดตั้งโดยหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น และองค์กรด้านคนพิการ

       นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีผู้พิการได้รับการจ้างงานใน รพ.ทั้ง 32 แห่ง ใน 22 จังหวัด แบ่งเป็น โรงพยาบาลชุมชน 29 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป 3 แห่ง จำนวนประมาณ 150 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนประมาณ 20 แห่ง

         ทั้งนี้ หลักการจ้างงานคนพิการของกระทรวงสาธารณสุขมี 3 ลักษณะดังนี้ 1.การจ้างงานตามมาตรา 33 โดยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจ้างเอง สามารถจ้างคนพิการได้ทุกประเภท แบบเต็มเวลาเป็นลูกจ้างประจำ จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนหรือรายวันตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ระยะเวลาการจ้างไม่น้อยกว่า 1 ปี  2.การจ้างตามมาตรา 35 โดยกระทรวงสาธารณสุขจ้างเอง เช่น การให้สัมปทานแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ  การจัดสถานที่ในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ การจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ การฝึกงานแก่คนพิการให้มีความรู้ ทักษะที่นำไปประกอบอาชีพได้ เป็นต้น และ 3.การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 และจ้างเหมาบริการคนพิการตามมาตรา 35 โดยสถานประกอบการภาคเอกชน ตามนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อให้คนพิการเข้าปฏิบัติงาน ซึ่งมีมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกรมส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ เป็นผู้ประสานงาน

***************************************** 3 เมษายน 2562

 

********************************

 



   
   


View 1053    03/04/2562   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ