“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 350 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข กำชับหน่วยงานในสังกัด เข้มข้นความสะอาดปลอดภัยอาหาร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และหน้าร้อน แนะเมนูที่ควรระวัง ผลการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคและน้ำแข็ง ทั้งสถานที่ผลิตและสถานที่จำหน่าย พบส่วนใหญ่ผ่านมาตรฐาน
วันนี้ (2 เมษายน 2562) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย และนายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แถลงข่าว สา’สุข รวมใจ “สู่อาหารปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์”
นายแพทย์สุขุมกล่าวว่า ปีนี้คาดว่าหน้าร้อนอุณหภูมิจะสูงถึง 43 องศาฯ สภาพอากาศร้อนอบอ้าว และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทย ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับบ้านเพื่อไปเฉลิมฉลองและท่องเที่ยว สิ่งที่น่าห่วงคือ ในช่วงหน้าร้อน เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร จากการรับประทานอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด โดยข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานช่วงหน้าร้อนมีนาคม - พฤษภาคมปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง รวม 339,176 ราย เสียชีวิต 5 ราย และในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 – 25 มีนาคม พบผู้ป่วยจำนวน 54,516 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดดูแลความปลอดภัยอาหารหน้าร้อน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประสานการทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคุมกำกับสถานประกอบการด้านอาหาร เช่น ตลาด ร้านอาหาร แผงลอย และส่งเสริมและดำเนินการตามแนวทาง GREEN For all ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย โรงอาหารปลอดภัย(GREEN Canteen) และให้ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ เรื่อง “5 ถูก เพื่ออาหารปลอดภัย” คือ ซื้ออาหารถูกที่ ล้างถูกวิธี ปรุงถูกสุขลักษณะ เก็บอาหารถูกต้อง บริโภคอาหารถูกหลักของกรมอนามัย และการแจ้งเตือนภัยด้านอาหาร โดยสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร ตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคและน้ำแข็ง ทั้งสถานที่ผลิตและสถานที่จำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่ผ่านมาตรฐาน และพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานเป็นตัวอย่างที่เก็บจากสถานที่จำหน่าย เช่น ตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ และน้ำแข็งที่จำหน่ายในตลาดสด ซึ่งอาจเกิดจากการเก็บรักษาที่ไม่ดีของน้ำแข็ง ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขเบื้องต้น เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ซ้ำ หากตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะดำเนินการตามกฎหมาย และขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อน้ำดื่ม และน้ำแข็ง ในช่วงหน้าร้อนเป็นพิเศษ โดยพิจารณาลักษณะ สี กลิ่น รส ไม่มีฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอม ภาชนะบรรจุต้องสะอาดและปิดสนิท หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำแข็งตักขายที่มีการเก็บรักษาน้ำแข็งปนกับอาหารประเภทอื่น สำหรับเมนูอาหารที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งนิยมรับประทานกับครอบครัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ จ่อม/ก้อย/ลาบ อาหารทะเล ยำ ส้มตำ สลัดผัก อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด ควรปรุงสุกใหม่ สะอาด รับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ หากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน
นอกจากนี้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มสมุนไพร ที่ใช้ภูมิปัญญาไทยช่วยดับร้อน รักษาสมดุลของอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ เป็นการป้องกันโรค เช่น มะระทรงเครื่อง เป็นยาดับร้อน ถอนพิษไข้ แก้กระหาย บรรเทาอาการร้อนใน แก้อักเสบ เจ็บคอ แกงเลียงกุ้งช่วยขับเหงื่อ และแกงจืดต่าง ๆ เช่น ฟักเขียว ตำลึง มะระยัดไส้ ผักกาดขาว แกงขี้เหล็ก ช่วยแก้ร้อนใน ของหวานเช่น เฉาก๊วย สละลอยแก้ว น้ำสมุนไพร เช่น ย่านาง น้ำบัวบก น้ำกระเจี๊ยบ น้ำตรีผลา น้ำใบเตย น้ำมะนาว รวมทั้งผลไม้ เช่น กล้วย ชมพู่ แตงโม แตงไทย มะเฟือง เป็นต้น และขอแนะนำให้มีใช้ยาสมุนไพรไว้ประจำบ้าน รักษาอาการท้องเสียชนิดไม่ติดเชื้อ ได้แก่ ยาเหลืองปิดสมุทร ยาธาตุบรรจบ และยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร เป็นต้น
******************************** 2 เมษายน 2562