แพทย์แนะผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง ให้ระวังความผิดปกติ แม้มีหรือไม่มีบาดแผลก็อย่าชะล่าใจ ให้สังเกตอาการใกล้ชิด หากเด็กมีอาการเช่น ปวดศีรษะมากขึ้น อาเจียนพุ่ง ซึมลง ไข้สูง เป็นสัญญาณอันตรายทางสมองต้องพบแพทย์ด่วน ส่วนอาการน้องแอ๋มที่บุรีรัมย์ ล่าสุดวันนี้ดีขึ้น แพทย์จะย้ายจากไอซียูเย็นวันนี้
จากกรณีที่มีข่าวเด็กหญิงอาริสา บำรัมย์ หรือน้องแอ๋ม อายุ 4 ปี นักเรียนชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนสำโรงโนนเค็ง ต.หนองตราด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ พลัดตกจากเสาบาสเกตบอลภายในโรงเรียน เมื่อ 22 มกราคม 2551 ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ทางโรงเรียนไม่นำตัวส่งโรงพยาบาล เมื่อเด็กกลับถึงบ้านมีอาการตาค้าง คอตก และอาเจียนตลอดเวลา หมดสติ ญาติได้นำส่งโรงพยาบาล ขณะนี้อยู่ห้องไอซียู โรงพยาบาลบุรีรัมย์ นั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายแพทย์มัยธัช สามเสน รักษาราชการแทนรองอธิบดีกรมการแพทย์และ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ข่าวเด็กตกจากที่สูงจะพบได้อยู่เรื่อย ๆ อันตรายต่อสมองเกิดขึ้นได้เสมอในยุคนี้ ทั้งจากยวดยานพาหนะ และกีฬาที่เสี่ยงอันตรายต่าง ๆ เช่น สเก็ตบอร์ด สเก็ตน้ำแข็ง ชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อเด็กที่จะมีบาดเจ็บที่ศีรษะและสมองอยู่ตลอดเวลา การบาดเจ็บต่อสมองเด็กอาจพบได้ทั้งกรณีรุนแรงน้อยจนถึงรุนแรงมาก หลังการบาดเจ็บสมองของเด็กมักมีการฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของเด็ก ร่างกายจะสร้างสิ่งเพื่อปกป้องอวัยวะสำคัญ คือ สมอง เช่น กะโหลกศีรษะ หนังศีรษะ และเส้นผม เพื่อป้องกันไม่ให้สมองกระทบกระเทือน ขณะเดียวกันเด็กก็มีกะโหลกที่มีความยืดหยุ่น รับแรงกระแทกได้ดีกว่าในผู้ใหญ่ คือ กะโหลกเด็กจะบางกว่า สามารถยุบตัวและเด้งคืนสู่สภาพเดิมได้ และกะโหลกเด็กยังแยกกันเป็นชิ้น ๆ เชื่อมต่อกันหลวม ๆ ตามรอยต่อต่าง ๆ เพื่อให้ยืดหยุ่นรับแรงกระแทกได้ดีขึ้น
นายแพทย์มัยธัช กล่าวต่ออีกว่า การบาดเจ็บที่สมอง มีอันตรายที่ประชาชนอาจคิดไม่ถึง บางครั้งอาจจะมีแค่บาดแผลเล็กน้อย หรือรอยฟกช้ำ แต่เนื้อสมองด้านในอาจกระทบกระเทือน มีเลือดออกภายใน โดยไม่มีเลือดออกมาให้เห็นภายนอก จึงต้องเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด โดยสัญญาณอันตรายที่เกิดในสมอง ได้แก่ อาการปวดศีรษะมากขึ้นเรื่อย ๆ มีอาเจียนพุ่ง ร่วมกับตามัว ซึมลง หมดสติ หรือหลับสนิทปลุกไม่ตื่น แขนหรือขาอ่อนแรง ตามัวพูดไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อนกัน เวียนศีรษะอย่างแรง ชักหรือมีไข้สูง หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ซึ่งอาจจะมีการตรวจพิเศษต่าง ๆ เช่น เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือเอ็กซเรย์ธรรมดาเพื่อดูความผิดปกติภายใน ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะไม่พบ แต่อาจจะพบได้ภายหลังในหลายสัปดาห์ หรือหลังเกิดเหตุ 2-3 เดือน จากปัญหาเลือดซึมออกในสมองก็ได้
นายแพทย์พิเชฐ อังศุวัชรากุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์ กล่าวถึงความคืบหน้าอาการของเด็กหญิง อาริสา ว่า วันนี้เด็กรู้สึกตัว มีอาการซึม สามารถหายใจเองได้ กินอาหารได้ อาเจียนเป็นบางครั้ง โดยแพทย์ได้ส่งเอ็กซเรย์สมองเพื่อดูความผิดปกติ ขณะนี้รอผลและอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยจะย้ายออกจากห้องไอซียูไปอยู่หอผู้ป่วยเด็กในเย็นวันนี้
********************************** 24 มกราคม 2551
View 12
24/01/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ