“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 280 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข จัดการอบรมประสานงานทีมแพทย์ยามเกิดภัยพิบัติ 10 ประเทศอาเซียน เพื่อเตรียมพร้อมการจัดการด้านการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียนตามหลักสูตร WHO ให้มีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันและเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ
วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2562) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การประสานงานของทีมแพทย์ยามเกิดภัยพิบัติ (Emergency Medical Team Coordination Cell : EMTCC training : AMS training 4th) ภายใต้โครงการ “The Project for Strengthening the ASEAN Regional Capacity on Disaster Health Management (ARCH Project)” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉินร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) จัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 17-22 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระดับภูมิภาคอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และการจัดการภัยพิบัติด้านสาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศ เข้าร่วมกว่า 100 คน
นายแพทย์สุขุมกล่าวว่า การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติเป็นเรื่องที่สำคัญ รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ดูแลสุขภาพประชาชน จึงได้จัดอบรมประสานงานทีมแพทย์ยามเกิดภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียนขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือด้านวิชาการและการปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน การจัดการภัยพิบัติด้านสาธารณสุขในระดับอาเซียนและนานาชาติ อีกทั้งเป็นการสอดรับกับปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการจัดการด้านการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ร่วมประกาศในการประชุมผู้นำอาเซียนในปี 2017 และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ในปี 2562 นี้ด้วย
นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า การอบรมนี้เป็นหลักสูตรมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีวิทยากร และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จาก WHO เป็นผู้ให้ความรู้ทั้งด้านทฤษฎี และปฏิบัติ จะเป็นการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และการจัดการภัยพิบัติทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทยและภูมิภาคอาเซียน ให้มีศักยภาพในการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งทำให้เกิดการบริหารจัดการและแนวทางการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ให้มีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันและเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ ข้อมูล และการปฏิบัติการในการช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย
******************************************** 22 กุมภาพันธ์ 2562