กระทรวงสาธารณสุขประชุมทางไกลติดตามมาตรการเฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชนในสถานการณ์ฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ใน 5  จังหวัดปริมณฑล พร้อมขยายเครือข่ายเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ สร้างความรู้ความเข้าใจประชาชนป้องกันตนเอง ไม่สร้างมลภาวะเพิ่ม

          วันนี้ (29 มกราคม 2562) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์สถานการณ์ฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5  ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ กับศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC)  ระดับจังหวัด 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม เพื่อติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และมาตรการการดำเนินงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน

          นายแพทย์ดนัย กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน จากการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพของระบบเครือข่ายการเฝ้าระวังในกรุงเทพและปริมณฑล 22 แห่งใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ  พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่รายงานเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ซึ่งการเข้ารับการรักษามีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันกับค่าคุณภาพอากาศ จึงได้ขยายการเฝ้าระวังไปยังพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 4 สระบุรี, 5 ราชบุรี และ 6 ชลบุรี ให้เฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับการนำ พ.ร.บ.การสาธารณสุขมาใช้ ให้อยู่ในอำนาจการตัดสินใจของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนการประกาศหยุดเรียน การงดกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้งให้อยู่ในดุลยพินิจของพื้นที่

          “ได้กำชับให้ 5 จังหวัดดังกล่าว ดำเนินการตามมาตรการ อย่างต่อเนื่องทั้งการติดตามสถานการณ์ ประเมินความเสี่ยง เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ โดยให้เจ้าหน้าที่ รวมถึง อสม. สื่อสารแจ้งเตือนประชาชน ลงพื้นที่ให้ความรู้ สร้างความตระหนักเรื่องฝุ่นละอองและการป้องกันตนเอง การเตรียมพร้อมสถานพยาบาล ที่สำคัญ ประชาชนต้องให้ความร่วมมือในการลดมลภาวะ ลดการเผาในที่โล่งแจ้ง ตรวจสภาพรถไม่ให้ปล่อยควันดำ” นายแพทย์ดนัย กล่าว

          ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกลุ่มประชาชนทั่วไป ขอให้ลดเวลาทำกิจกรรมนอกบ้านและท่องเที่ยว หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากและออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น ปั่นจักรยาน/วิ่ง เปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้านหรือโรงยิมแทน เช่น โยคะ เดิน-วิ่งบนลู่วิ่ง แบดมินตัน ในกลุ่มเสี่ยง ลดการออกนอกบ้าน ควรอยู่ในอาคารโดยเฉพาะห้องสะอาด  และไม่ควรอยู่นอกบ้านเป็นเวลานาน เลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ/โรคหัวใจและหลอดเลือด ควรเตรียมยาประจำตัวและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม อย่างน้อย 5 วัน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

***************************************** 29 มกราคม 2562



   
   


View 764    29/01/2562   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ