รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้ภัยคนที่ปล่อยให้อ้วนลงพุง จนเรียกว่าพุงหลาม อายุจะสั้นขึ้น รอบเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 เซนติเมตร จะเพิ่มโอกาสเป็นโรคเบาหวาน 3-5 เท่า ชี้ผลสำรวจล่าสุดพบคนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไป อ้วนลงพุงพุ่งกว่า 9 ล้านคน เร่งเดินหน้าโครงการคนไทยไร้พุง กระตุ้นออกกำลังกาย กินผักผลไม้เพิ่ม นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดคลินิกไร้พุง (DPAC) ที่ศูนย์อนามัยที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเช้าวันนี้ (15 มกราคม 2551) ว่า ปัจจุบันวิถีชีวิตและการบริโภคของประชาชนในสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มสุรา จนทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน จากการสำรวจสภาวะอ้วนลงพุงในประชาชนของกรมอนามัย ปี 2550 พบว่าคนไทยอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป เพศชายมีภาวะอ้วนลงพุงร้อยละ 24 และเพศหญิงร้อยละ 60 โดยพบในผู้หญิงมากกว่าชายถึง 2.5 เท่าตัว คนที่อ้วนลงพุงจะมีไขมันสะสมในช่องท้องมาก และเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ รอบเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 เซนติเมตร จะเพิ่มโอกาสเป็นโรคเบาหวาน 3-5 เท่า ฉะนั้นยิ่งพุงใหญ่เท่าใด ยิ่งอายุสั้นเท่านั้น นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้แก้ไขปัญหาอ้วนลงพุง โดยจัดโครงการคนไทยไร้พุง รณรงค์ให้ชมรมสร้างสุขภาพ โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ทั่วประเทศ รณรงค์วัดรอบเอวผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ปีละ 2 ครั้ง ตั้งเป้าให้ได้ร้อยละ 80 ผลการดำเนินงานในปี 2550 สามารถวัดรอบเอวได้ร้อยละ 75 สำหรับในปี 2551 จะดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมาย และเพิ่มการรณรงค์ให้โรงเรียนสร้างเสริมสุขภาพ เป็นโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม มีการรณรงค์ให้กินผักผลไม้ พร้อมกันนี้จะจัดกิจกรรมสร้างกระแสการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกาย ใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท โดยมีผลการศึกษาวิจัยพบว่า การออกกำลังกาย ควบคุมอาหารเพื่อพิชิตอ้วน จะสามารถพิชิตพุงได้ด้วย ถ้าน้ำหนักตัวลดลงร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักเดิม ไขมันในช่องท้องจะลดลงไปได้ร้อยละ 30 โดยผู้หญิงควรมีเส้นรอบเอวไม่เกิน 80 เซนติเมตร ส่วนผู้ชายไม่เกิน 90 เซนติเมตร ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการลดน้ำหนักของประชาชนในขณะนี้ ยังมีบางกลุ่มที่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารเช้าบางคนงด แต่รับประทานกาแฟแทน เพราะอิ่มได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง อาหารมื้อเช้าเป็นมื้อหลักที่สำคัญและจำเป็นมาก ต้องรับประทานทุกวัน เพื่อกระจายพลังงานอาหารให้เหมาะกับความต้องการ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายไม่หิวมากในช่วงบ่ายแล้ว ยังควบคุมปริมาณอาหารในมื้อเย็นให้กินน้อยลงได้ และในการกินอาหารมื้อเย็น ควรกินให้ห่างจากเวลานอนไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง เช่นหากนอนเวลา 22.00 น. ควรกินอาหารเย็นประมาณ 17.00 น. เนื่องจากช่วงเวลานอนหลับ ระบบประสาทสั่งงานให้ร่างกายพักผ่อน ก็จะเกิดการสะสมไขมันในช่องท้องมากขึ้น สำหรับศูนย์อนามัยที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดตั้งคลินิกไร้พุงขึ้น เพื่อให้บริการกลุ่มที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ให้ได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพ โดยเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การเคลื่อนไหวออกกำลังกาย อย่างเหมาะสม และส่งเสริมสุขภาพผู้ที่มีสุขภาพดีอยู่แล้วให้มีสุขภาพดีต่อไป นายแพทย์โสภณกล่าว ********************************* 15 มกราคม 2551


   
   


View 8    15/01/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ