กระทรวงสาธารณสุข เตือน 8 พฤติกรรมเสี่ยง ผู้ขับขี่รถยนต์/ รถจักรยานยนต์ ไม่ควรปฏิบัติอาจเกิดอุบัติเหตุ เช่น ดื่มสุรา ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย  ไม่สวมหมวกกันน็อค ปรับเบาะเอนมากเกินไป เล่นโทรศัพท์มือถือ แนะหากขับรถระยะทางไกล ต้องหยุดพักทุก 2 ชั่วโมง หรือรถติดใช้เวลานาน รู้สึกเมื่อย ง่วง เครียด ให้หยุดพักรถบ่อยๆ ยืดเส้นยืดสาย

          นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ควรเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจราจร 8 ประการ ได้แก่ 1.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 2.กินยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยาแก้แพ้ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยาคลายเครียด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ไข้หวัด เป็นต้น 3.นั่งชิดพวงมาลัยมากเกินไป จะทำให้ข้อศอกงอกว่าปกติ หมุนพวงมาลัยไม่คล่อง อาจบาดเจ็บจากการกระแทกกับพวงมาลัย และแรงระเบิดจากถุงลมนิรภัย 4.การปรับเบาะให้เอนมากเกินไป ทำให้การควบคุมพวงมาลัยไม่คล่องตัว ขาดความฉับไวและความแม่นยำ การมองกระจกมองหลังและมองข้างต้องเบนแนวสายตามากกว่าปกติ เกิดการเมื่อยล้า

          5.จับพวงมาลัยตามความสบายของตัวเอง ควรจับพวงมาลัยให้ถูกต้องคือ มือซ้ายจับที่ตำแหน่ง 9-10 นาฬิกา มือขวาที่ตำแหน่ง 2-3 นาฬิกา และจับทั้ง 2 มือเสมอ 6.ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นคนขับจะพุ่งเข้าหาพวงมาลัยหรือกระจกหน้ารถยนต์ 7.การฟังเพลงดังๆ ในรถ หรือใส่หูฟัง จะทำให้ไม่ได้ยินเสียงผิดปกติ หรือเสียงจากภายนอกรถ 8.การเล่นโทรศัพท์ ไลน์ โซเชียลขณะขับรถ เพราะการละสายตาจากถนนแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่วินาที ก็ทำให้เสียสมาธิในการขับขี่เช่น เหยียบเบรกหรือหักพวงมาลัยช้าลง

          ทั้งนี้ การขับรถระยะทางไกล หรือรถติดใช้เวลาขับรถนานกว่าปกติ อาจเกิดอาการเมื่อยล้า ง่วงนอน และเกิดความเครียดได้ ขอแนะนำผู้ขับควรหยุดพักรถเป็นระยะ หรือทุก 2 ชั่วโมง และลงจากรถเพื่อยืดเส้นยืดสาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังพวงมาลัย โดยหยุดพักรถในจุดที่ปลอดภัยแล้วเลื่อนเบาะให้ห่างพวงมาลัย  และปฏิบัติดังนี้ ให้ทำตัวผ่อนคลาย สูดหายใจเข้า ท่าที่ 1 ประสานมือ ท่ายกมือไหว้แต่หักนิ้วมือลงมาประสานกัน ไว้ระดับอก หน้ามองตรง ท่าที่ 2 เหยียดแขนพร้อมดัดฝ่ามือไปทางซ้ายให้สุดแขน ลำตัวตรง หน้าตรง แขนตึง กลั้นลมหายใจ จากนั้นผ่อนลมหายใจออก งอแขนกลับมาไว้ระดับอก ท่าที่ 3 เหยียดแขนพร้อมดัดฝ่ามือไปทางขวาให้สุดแขน  ลำตัวตรง หน้าตรง แขนตึง  กลั้นลมหายใจ  จากนั้นผ่อนลมหายใจออก งอแขนกลับมาไว้ระดับอก ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง  จะช่วยผ่อนคลายอาการปวดเมื่อย คลายเครียดได้ นอกจากนี้ ควรพกยาหอม ยาหม่อง เพื่อแก้วิงเวียนศีรษะ ถ้าหิวน้ำแนะนำให้ดื่มน้ำสมุนไพร อาทิ น้ำกระเจี๊ยบที่ให้วิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตา น้ำอัญชันมะนาวช่วยบำรุงสายตาทำให้ตาสว่าง และน้ำใบเตยลดการกระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื่น บำรุงหัวใจ เป็นต้น

**************************************  29 ธันวาคม 2561



   
   


View 963    29/12/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ