สาธารณสุขเผยผลสำรวจสุขภาพ พบผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 45 เหลือฟันเคี้ยวอาหารไม่ถึง 20 ซี่ ต่ำกว่าเกณฑ์องค์การอนามัยโลก เหตุส่วนใหญ่เกิดจากฟันผุ เหงือกอักเสบ และฟันโยก เร่งใส่ฟันเทียมพระราชทานเพิ่มให้ผู้สูงอายุอีก 90,000 ราย ภายใน 3 ปี พร้อมนำร่อง 32 ชมรมผู้สูงอายุ จาก 11 จังหวัดเป็นชมรมต้นแบบการดูแลสุขภาพช่องปาก ถนอมฟัน-เหงือก นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบฟันเทียมพระราชทานแก่ผู้สูงอายุของจังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 20 คน เมื่อบ่ายวันนี้ (14 มกราคม 2551) ว่า ขณะนี้ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ประสบปัญหาหลายเรื่อง ทั้งมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่พบมากคือโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่วนในช่องปาก ผู้สูงอายุเกือบครึ่งหนึ่งเหลือฟันเคี้ยวอาหารไม่ถึง 20 ซี่ ตามเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ กระเพาะอาหารทำงานหนักขึ้น การดูดซึมสารอาหารไม่ดี ส่งผลให้เกิดปัญหาได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จากผลการสำรวจสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุซึ่งมีเกือบ 7 ล้านคน ล่าสุดในปี 2547 พบว่า อยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง มีปัญหาการบดเคี้ยว เนื่องจากร้อยละ 45 เหลือฟันเคี้ยวอาหารไม่ถึง 20 ซี่ ในจำนวนนี้สูญเสียฟันทั้งปาก ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหารร้อยละ 8 หรือจำนวน 560,000 คน สาเหตุหลักที่ทำให้สูญเสียฟัน ร้อยละ 96 เกิดจากฟันผุ ซึ่งเป็นผลสะสมมาตั้งแต่วัยเด็กและไม่ได้รับรักษา นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเหงือกอักเสบ และทำให้ฟันโยก เนื่องจากกระดูกหุ้มรอบๆ รากฟันเกิดการละลายตัวเพราะหินปูนจับที่ตัวฟัน ต้องสูญเสียฟันไป โดยจากการสำรวจการแปรงฟันของผู้สูงอายุ พบว่ามีแนวโน้มเสี่ยงสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น เนื่องจากแปรงฟันถูกเวลา คือหลังตื่นนอนตอนเช้าและก่อนนอน เพียง 1 ใน 3 และวิธีการแปรงส่วนใหญ่ เป็นแบบถูไปถูมา ไม่ได้แปรงขึ้นลงตามร่องฟัน ทำให้คอฟันสึก ฟันผุง่ายขึ้นไปอีก ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้จัดทำโครงการฟันเทียมพระราชทาน ให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2550 ดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2548 – 2550 สามารถใส่ฟันเทียมได้แล้ว 94,000 ราย จากการประเมินผลพบว่าโดนใจผู้สูงอายุมากเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กินอาหารได้มากขึ้น ร้อยละ 83 พูดชัดขึ้น พอใจในความสวยงามของใบหน้า ทำให้ชีวิตมีความสุข เข้าสังคมได้อย่างมั่นใจ โครงการเกิดประโยชน์ต่อผู้สูงอายุเป็นอันมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขยายโครงการต่อไปอีก 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2551 - 2553 อีกจำนวน 90,000 ราย นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2551 กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาชมรมผู้สูงอายุให้เป็นชมรมผู้สูงอายุต้นแบบในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเองทั้งหมด 32 ชมรม นำร่องใน 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น อำนาจเจริญ ราชบุรี สุพรรณบุรี และเพชรบุรี รวมทั้งเผยแพร่แก่ชมรมผู้สูงอายุภาคต่างๆ ที่สนใจด้วย เพื่อถนอมฟันที่เหลือ และดูแลสุขภาพเหงือกให้แข็งแรง ไม่สูญเสียฟันเพิ่มอีก นายแพทย์มรกตกล่าว ทางด้านนายแพทย์วิรัตน์ พุทธิเมธี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า จากการจัดโครงการฟันเทียมพระราชทาน ของจังหวัดอำนาจเจริญ ระหว่าง พ.ศ. 2548 - 2550 ได้ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุใส่ฟันเทียมทั้งปากจำนวน 492 ราย และสามารถดำเนินการใส่ฟันเทียมไปได้จำนวน 471 ราย คิดเป็นร้อยละ 96 ของผู้ที่ต้องใส่ฟันเทียมทั้งหมด โดยในปี 2551 ได้ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุได้รับการตรวจช่องปากและใส่ฟันเทียมให้ได้ 160 คน ************************14 มกราคม 2551


   
   


View 13    14/01/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ