กระทรวงสาธารณสุข เปิดคลินิกบ้านเพื่อน จังหวัดนครราชสีมา บริการตรวจรักษา ให้คำปรึกษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์โดยเฉพาะ เพิ่มการเข้าถึงบริการของกลุ่มเสี่ยง ที่ไม่กล้าไปใช้บริการที่โรงพยาบาล ชี้ผลสำรวจล่าสุดในปี 2549 พบหญิงขายบริการทางเพศตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีลดลงจากร้อยละ 61 ในปี 2547 เหลือเพียงร้อยละ 47 ในปี 2549 เนื่องจากเข้าไม่ถึงบริการ และขายบริการขณะเป็นกามโรคเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว
บ่ายวันนี้ (14 มกราคม 2551) ที่จังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงทิพย์วดี บำเพ็ญบุญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เป็นประธานพิธีเปิดคลินิกบ้านเพื่อน ซึ่งตั้งอยู่บ้านเลขที่ 11 ถนนสืบศิริ อ.เมืองนครราชสีมา เพื่อให้บริการตรวจรักษา ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์โดยเฉพาะ เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนหรือศูนย์มีชัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และแกนนำเครือข่ายต่างๆ เช่น แกนนำสถานบันเทิง แกนนำกลุ่มชายรักชาย เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เข้าถึงบริการได้สะดวก ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ทำให้การควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี 2547 จนถึง 31 ธันวาคม 2550 ได้รับรายงานผู้ป่วยเอดส์ทั้งสิ้น 324,790 ราย เสียชีวิต 90,440 ราย คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอดส์สะสมกว่า 1 ล้านราย ยังมีชีวิตอยู่ 546,578 ราย สาเหตุหลักของการติดเชื้อกว่าร้อยละ 80 มาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และคาดว่าในปี 2550 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 14,000 ราย ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ร้อยละ 45 เป็นหญิงวัยรุ่นและแม่บ้านที่ติดเชื้อจากคู่ครองหรือคนรักของตนเอง รองลงมาคือชายรักชาย และกลุ่มขายบริการทางเพศอิสระเพื่อทำเป็นรายได้เสริมประมาณร้อยละ 20 ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าถึงได้ยาก นอกจากนี้ รูปแบบการขายบริการทางเพศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จากที่เคยบริการในสถานบริการทางเพศโดยตรง แต่ขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นการขายแบบแฝง ในรูปของอาบอบนวด นวดแผนโบราณ คาราโอเกะ บาร์เบียร์ นางทางโทรศัพท์ เป็นต้น
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า จากการประเมินอัตราการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในกลุ่มหญิงขายบริการทางเพศล่าสุดในปี 2549 พบว่าลดลงจากร้อยละ 61 ในปี 2547 เหลือเพียงร้อยละ 47 ในปี 2549 ที่เหลืออีกกว่าครึ่งไม่ได้ตรวจ จึงมีความเสี่ยงแพร่เชื้อสู่คู่นอน โดยหญิงขายบริการทางเพศมีอัตราให้บริการทางเพศเฉลี่ย 300 ครั้งต่อคนต่อปี จากการสำรวจยังพบอีกว่า มีหญิงขายบริการเคยร่วมเพศขณะเป็นกามโรคร้อยละ 8 เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวจากปี 2547 นับว่าน่าห่วงมาก ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากหญิงขายบริการทางเพศเข้าถึงบริการคำปรึกษาแนะนำลดลง เพราะหน่วยงานที่เคยให้บริการตรวจสุขภาพ คือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งถูกยกเลิกไป จากการปรับเปลี่ยนภารกิจตามการปฏิรูประบบราชการ โอนภารกิจให้โรงพยาบาลเปิดบริการแทน ซึ่งรวมกับผู้ป่วยทั่วๆ ไป ทำให้ผู้หญิงขายบริการทางเพศหรือผู้ติดเชื้อที่ต้องการไปตรวจหรือต้องการคำปรึกษาไม่กล้าไปใช้บริการ
นายแพทย์มงคล กล่าวอีกว่า ในการแก้ไขปัญหานี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 - 2554 กำหนดเป้าหมายลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี 2554 โดยส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มผู้ติดเชื้อ กลุ่มชายรักชาย กลุ่มผู้ให้และผู้ใช้บริการทางเพศ กลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ รวมทั้งขยายคลินิกบริการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดแบบสมัครใจทุกจังหวัด ในปี 2551 ตั้งเป้าให้ยาต้านไวรัสผู้ป่วยโรคเอดส์ 130,000 ราย และครอบคลุมทั่วถึงผู้ป่วนทุกรายภายในปี 2553
ด้านร้อยเอกนายแพทย์วรัญญู สัตยวงศ์ทิพย์ รักษาการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในปี 2548 จังหวัดนครราชสีมามีประชาชนอพยพเขามาทำงานในโรงงาน 175,845 คน และทำงานในสถานบันเทิงต่างๆ อีก 3,350 คน ทำให้มีแนวโน้มอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงขึ้น จากแสนละ 10 คนในปี 2545 เป็นแสนละ 18 คนในปี 2549 อัตราการติดเชื้อเอชไอวีในหญิงขายบริการตรงร้อยละ 7 โดยมีการใช้ถุงยางอนามัยกับแขกครั้งสุดท้ายร้อยละ 100 แต่ใช้กับชายอื่นร้อยละ 70 และใช้กับสามีเพียงร้อยละ 30 ที่น่าห่วงคือจากข้อมูลการสำรวจในปี 2550 ในกลุ่มหญิงขายบริการทางเพศอิสระ ที่ไม่ทำงานกับสถานบันเทิงใด จำนวน 75 คน พบว่าติดเชื้อเอชไอวีถึงร้อยละ 23 ในจำนวนนี้ร้อยละ 55 ไม่ใช้ถุงยางอนามัย
ร้อยเอกนายแพทย์วรัญญู กล่าวต่อว่า สำหรับบริการคลินิกบ้านเพื่อน มีพยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมด้านการให้คำแนะนำปรึกษา นักวิชาการ และเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนประจำการ ให้บริการตั้งแต่ 10.00 20.00 น. บริการกลุ่มขายบริการทางเพศทั้งชายและหญิง ผู้ที่เป็นกามโรค กลุ่มชายรักชาย กลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการคำปรึกษาเรื่องเพศ เอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บริการเป็นกันเองและครบวงจร ให้บริการถุงยางอนามัย บริการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ และถือว่าข้อมูลผู้ป่วยเป็นความลับ หากพบเป็นกามโรคที่รักษายาก เชื้อดื้อยา จะส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
ทั้งนี้ ภายหลังจากทดลองดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน - 31 ธันวาคม 2550 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 47 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 15 เป็นโรคหนองใน มีสถานบันเทิงในเขตเทศบาลนครขึ้นทะเบียน 165 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรม 25 แห่ง กลุ่มชายรักชาย 30 คน และหญิงขายบริการทางเพศอิสระ 77 คน โดยจะรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคและตรวจคัดกรองครั้งใหญ่ แก่กลุ่มพนักงานสถานบันเทิง สถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป และต่อไปจะเพิ่มบริการยาต้านไวรัสเอดส์ในรายที่ไม่มีปัญหาแทรกซ้อน และส่งเสริมสุขภาพด้วยวิธีอื่นๆ ควบคู่ด้วย
********************************* 14 มกราคม 2550
View 10
14/01/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ