กระทรวงสาธารณสุข เร่งยกมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจชันสูตรโรคและห้องเอ็กซเรย์ ของโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ 825 แห่ง ให้ได้มาตรฐานเทียบระดับสากล เพื่อสนับสนุนให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วยได้แม่นยำ รวดเร็ว และสอดคล้องกับสภาพปัญหาสุขภาพในพื้นที่ เช้าวันนี้ (11 มกราคม 2551) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังเปิดการประชุมสัมมนานายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ผู้บริหารและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 250 คน เพื่อพัฒนามาตรฐานชันสูตรโรค และนำผลการวิเคราะห์ทดสอบ ไปใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ที่รักษาประชาชน รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจการปนเปื้อนภาคสนาม การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ การวิจัยสมุนไพรต่างๆ ในประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการรักษาพยาบาล ทดแทนยาแผนปัจจุบันที่ใช้ปีละกว่า 2 แสนล้านบาท นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานให้บริการรักษาประชาชนที่ใหญ่ที่สุด มีโรงพยาบาลทั่วประเทศถึง 825 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ 25 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 70 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 730 แห่ง มีผู้ใช้บริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกวันละเกือบ 2 แสนคน และมีผู้ป่วยในวันละประมาณ 5 หมื่นราย ซึ่งในการตรวจรักษาของแพทย์ ต้องอาศัยผลการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บ เพื่อหาสาเหตุการเจ็บป่วย รวมทั้งต้องใช้การเอ็กซเรย์ เพื่อตรวจความผิดปกติของอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกาย ได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เร่งพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยเหล่านี้ ให้ได้มาตรฐานระดับชาติหรือระดับสากล ตรวจสอบ ตรวจวิเคราะห์ที่ใดจะได้ผลเหมือนกัน ซึ่งจะทำให้ระบบการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ ทำได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เป็นผลดีต่อการรักษาผู้ป่วยให้หายจากอาการป่วยเร็วขึ้น โดยในปี 2551 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะบูรณาการความร่วมมือขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการชันสูตรสาธารณสุข รวมทั้งมาตรฐานที่ใช้ในการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการ และจะพัฒนาห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐานระดับชาติหรือระดับสากล ISO 15189 นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านรังสีวินิจฉัยหรือห้องเอ็กซ์เรย์ ให้ได้มาตรฐานในระดับสากล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง ทันเวลา ด้วยการใช้รังสีประเภทต่างๆ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่องเอ็กซเรย์ที่ใช้วินิจฉัยทางการแพทย์ทั้งหมด 4,500 เครื่อง ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่เพียงแต่ดำเนินงานพัฒนาห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังให้การสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภค โดยพัฒนาชุดทดสอบอย่างง่าย ประชาชนสามารถใช้เองได้ประมาณ 20 ชุด เช่น ชุดทดสอบสารปนเปื้อนในอาหาร ชุดทดสอบสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง เป็นต้น มีการตรวจวิเคราะห์วิจัยทางห้องปฏิบัติการผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาทิ อาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน อุปกรณ์ด้านรังสี นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การวิจัยพัฒนาวัคซีน การเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิง ซึ่งมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีความปลอดภัย *****************************11 มกราคม 2551


   
   


View 8    11/01/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ