“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 350 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เสนอนวัตกรรมของไทย “นาฬิกาอัจฉริยะเตือนภาวะน้ำตาลต่ำ” ตรวจจับสัญญาณ 3 ประการของภาวะน้ำตาลต่ำ ส่งสัญญาณเตือนผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ป้องกันอันตรายภาวะน้ำตาลต่ำขั้นรุนแรง ในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องเบาหวาน (Ministerial Conference on Diabetes) ณ ประเทศสิงคโปร์
นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องเบาหวาน (Ministerial Conference on Diabetes) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 26 - 27 พฤศจิกายน 2561 ณ ประเทศสิงคโปร์ ประกอบด้วย 3 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ 1. สถานการณ์ของโรคเบาหวาน โอกาสและความท้าทาย 2. การจัดการปัญหาเบาหวานด้วยการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการส่งเสริมสุขภาพและการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และ3. การเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า : การใช้เทคโนโลยีและพฤติกรรม
นายแพทย์ธวัชกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมในหัวข้อที่ 3 นำเสนอนวัตกรรมของไทย “นาฬิกาอัจฉริยะเตือนภาวะน้ำตาลต่ำ” หรือ “Warning Watch on hypoglycemia” ผลงานของทีมบุคลากรโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ จากโครงการ Thai Public Service Award พ.ศ. 2559 เนื่องจากการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 67 เคยประสบภาวะน้ำตาลต่ำขั้นรุนแรง โดยนาฬิกานี้ จะทำการตรวจจับสัญญาณ 3 ประการของภาวะน้ำตาลต่ำ คือ เหงื่อออก อุณหภูมิที่ผิวหนังลดต่ำลง และหัวใจเต้นเร็ว ส่งสัญญาณเตือนผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วหากมีอาการดังกล่าว เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำขั้นรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้ป่วยได้ ขณะนี้ ได้จัดทำเป็นนาฬิกาต้นแบบที่มีความเหมาะสมต่อการใช้งานเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้มีรูปแบบที่ทันสมัย ใช้งานสะดวก และราคาถูกลงเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไม่หยุดยั้งการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะสามารถช่วยป้องกันและ/หรือลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้ป่วยเบาหวาน
ทั้งนี้ ประเทศสิงคโปร์ ได้ประกาศทำสงครามกับโรคเบาหวานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2559 (war on diabetes in 2016) เนื่องจากมีผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงถึง 4.5 แสนคนจากประชากรทั้งหมด 5.6 ล้านคน และอาจจะมีผู้ป่วยเบาหวานสูงถึงหนึ่งล้านคนในปี 2593 (ค.ศ. 2050) สำหรับประเทศไทย สถานการณ์น่าเป็นห่วงไม่น้อยกว่าสิงคโปร์หรือทั่วโลก ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2557 หรือคิดเป็นผู้ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังได้เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ นายธาร์มาน ชันมูการัทนัม (Tharman Shanmugaratnam) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประสานกิจการด้านนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายสังคม (Coordinating Minister for Economic and Social Policies) ประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้นำระดับสูงจากประเทศต่าง ๆ อีก 16 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
******************************** 28 พฤศจิกายน 2561