นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ทุกที่ต่างมีการจัดงานเลี้ยงรื่นเริงสังสรรค์เป็นประเพณีนิยม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน ห้างร้าน บริษัท สมาคม โรงเรียน รวมทั้งการเลี้ยงกันในหมู่เพื่อนฝูง พี่น้อง ครอบครัว จากการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา พบว่าในช่วงเทศกาล มักจะมีรายงานการเกิดอุจจาระร่วงจากอาหารเป็นพิษมากขึ้นกว่าช่วงปกติประมาณ 1-2 เท่าตัว ดังนั้นช่วงฉลองปีใหม่ 2551 ที่จะถึงนี้ เพื่อป้องกันเกิดโรคอาหารเป็นพิษ ขอแนะนำให้ประชานยึดหลักปลอดภัยคือ กินร้อน ช้อนกลางและล้างมือ โดยกินอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ๆ ไม่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์หรือมีแมลงวันตอม สำหรับอาหารทะเลต้องทำให้สุกเต็มที่ หลีกเลี่ยงการกินอาหารค้างมื้อ หากจะเก็บอาหารไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บไว้ในตู้เย็น และอุ่นให้ร้อนก่อนกินทุกครั้ง และดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก ขณะกินอาหารร่วมกลุ่มขอให้ใช้ช้อนกลางตักอาหาร และล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังจากใช้ห้องน้ำห้องส้วมแล้วทุกครั้ง “อาหารจำพวกผักสดหรือผลไม้ ควรล้างให้สะอาดด้วยน้ำประปา หรือน้ำผสมคลอรีนครึ่งช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร ต้องขอฝากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลเข้มงวดในเรื่องความสะอาดของน้ำประปา ให้มีปริมาณคลอรีนตามมาตรฐานคือไม่ต่ำกว่า 0.5 ส่วนต่อล้านส่วนด้วย ส่วนผู้ปรุงอาหาร ควรหมั่นล้างมือ โดยเฉพาะก่อนหยิบจับปรุงอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม ดูแลรักษาความสะอาดภาชนะ และอุปกรณ์เครื่องใช้ในการประกอบอาหาร สำหรับแม่ค้าที่จำหน่ายอาหารปรุงเสร็จ อย่าปรุงอาหารทิ้งไว้นาน เช่น ปรุงตั้งแต่เที่ยงคืนแล้วขายตอนเช้า จะทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย” นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคอาหารเป็นพิษ มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ ภายหลังกินอาหาร สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือสารเคมีต่างๆ ที่ปนเปื้อนในอาหาร มักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย น้ำตก หลู้ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ ถ้าไม่อุ่นให้ร้อนก่อน ก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้ อาการสำคัญคือ อุจจาระร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เนื่องจากเชื้อโรคทำให้ลำไส้อักเสบ อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว รายที่ท้องเสียมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้ บางรายอาจมีอาการรุนแรง เนื่องจากมีการติดเชื้อและเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ด้วย เช่น ถุงน้ำดี หัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง หากเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตจะทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ตั้งแต่เดือนมกราคม-24 ธันวาคม 2550 พบผู้ป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษแล้ว 111,142 ราย เสียชีวิต 8 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 99 เป็นคนไทย จำแนกผู้ป่วยเป็นรายภาคดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 56,522 ราย สูงสุดที่อุบลราชธานี 9,754 ราย รองลงมา ขอนแก่น 5,591 ราย บุรีรัมย์ 4,696 ราย ภาคเหนือ 26,595 ราย สูงสุดที่เชียงใหม่ 3,240 ราย รองลงมา เชียงราย 3,055 ราย พิษณุโลก 2,865 ราย ภาคกลาง 22,969 ราย สูงสุดที่กรุงเทพฯ 2,701 ราย รองลงมา ระยอง 2,554 ราย พระนครศรีอยุธยา 1,649 ราย ภาคใต้ 5,056 ราย สูงสุดที่ สงขลา 1,178 ราย รองลงมา สุราษฎร์ธานี 801 ราย นครศรีธรรมราช 646 ราย ****************************** 29 ธันวาคม 2550


   
   


View 16    29/12/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ