รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งมอบพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นของขวัญปีใหม่ที่ล้ำค่ามอบให้ประชาชนทุกคนในปีหนูทอง คาดมีผลใช้ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเพิ่มเขตปลอดเหล้า เช่น วัด สถานศึกษา สถานที่ราชการ ห้ามขายในวันสำคัญทางศาลนา ห้ามส่งเสริมการขายเช่นลดแลกแจกแถม วันนี้ (26 ธันวาคม 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เสรี หงษ์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้อำนวยการสำนักบริการการแพทย์ฉุกเฉิน แถลงข่าวเรื่อง การออกพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550 นายแพทย์มงคลกล่าวว่า แม้ว่ากฎหมายใหม่ทั้ง 2 ฉบับนี้ จะยังไม่มีผลบังคับใช้ทันในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีการดื่มเหล้าฉลองและเกิดอุบัติเหตุจำนวนมากก็ตาม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ทันใช้ในเทศกาลสงกรานต์อย่างแน่นอน กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยเป็นอันมาก เพราะเป็นเรื่องของสุขภาพ ความปลอดภัยในชีวิตของส่วนรวม ทั้งจากอุบัติเหตุจราจร การกระทำรุนแรง ปัญหาอาชญากรรมโดยตรง ยอมรับว่ากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการต่อสู้ที่ยาวนานมาก ต้องทนต่อความเหน็ดเหนื่อยมากที่สุด โดยในบ่ายวันนี้ได้ประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เพื่อเตรียมออกกฎกระทรวงในรายละเอียด ในระหว่างที่รอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยเฉพาะการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อประเภทต่าง ๆ ให้เข้มงวดยิ่งขึ้นต่อไป การเผยแพร่พระราชบัญญัติฯ ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อสิงพิมพ์ เวปไซต์ วิทยุ โทรทัศน์ การจัดประชุมชี้แจงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐเอกชน ในส่วนกลางและภูมิภาค และจัดแปลกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษด้วย ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีคณะกรรมการควบคุมตั้งแต่ระดับชาติ ระดับกทม. และระดับจังหวัด ควบคุมแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สาระสำคัญในพระราชบัญญัติดังกล่าว มีทั้งหมด 7 หมวด 45 มาตรา กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งบรรจุภัณฑ์ ฉลากและข้อความคำเตือน ในการขายมีการกำหนดเขตปลอดเหล้า ได้แก่ วัด สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สถานที่ราชการ สถานศึกษาทุกระดับ หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก ปั้มน้ำมันและร้านค้าในบริเวณปั้ม รวมทั้งสวนสาธารณะของทางราชการ และสามารถจะกำหนดสถานที่สาธารณะอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกในภายหลัง เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมและการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ ยังได้ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่ต่ำกว่าอายุ 20 ปีซึ่งเพิ่มจากเดิมคือ 18 ปี และบุคคลที่อยู่ในอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ และเพิ่มวันห้ามขายเช่นวันสำคัญทางศาสนา วันครอบครัว เป็นต้น ทั้งนี้ วิธีการโฆษณาส่งเสริมการขายนั้น จะต้องไม่อวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงทั้งทางตรงและทางอ้อม ห้ามส่งเสริมการขายด้วยการลดแลกแจกแถม นอกจากนี้ในเนื้อหาการโฆษณาจะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม และให้ปรากฏได้เฉพาะภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสัญลักษณ์ของผู้ผลิต ไม่ใช่ภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์เหมือนที่ผ่านมา โดยกระทรวงสาธารณสุขจะจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นที่กรมควบคุมโรค เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หากมีการฝ่าฝืนกฎหมาย บทลงโทษจะแรงกว่ากฎหมายที่มีอยู่เดิม สำหรับผู้ที่ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามกฎหมายนี้จะสนับสนุนให้เข้ารับการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพ ที่โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ จากผลการสำรวจการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ในปี 2549 พบมีผู้ดื่มเกือบ 16 ล้านคนหรือเกือบ 1 ใน 3 โดยเป็นผู้ดื่มประจำ 9 ล้านกว่าคน เป็นชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 10 เท่าตัว พบในกลุ่มอายุ 20 ขึ้นไป มีผู้ดื่มนาน ๆ ครั้งเกือบ 7 ล้านคน มักเป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 19 ปี และจากการสำรวจครั้งนี้ พบว่าเยาวชนอายุ 11 - 14 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 28,300 คน ในจำนวนนี้ดื่มทุกวันหรือเกือบทุกวัน 2,400 คน ยอดการผลิตและนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มจาก 1,400 ล้านลิตรในปี 2537 เป็น 2,700 ล้านลิตรในปี 2549 โดยเป็นเบียร์มากที่สุดร้อยละ 74 เหล้าขาวร้อยละ 14 ในส่วนของพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินนั้น ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทย ที่จะประกันความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนภายหลังเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทุกประเภท หรือเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 ใช้ทันในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างแน่นอน ผลจากกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยมีความชัดเจน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะยกระดับศูนย์นเรนทรให้เป็นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานในการจัดระบบ วางแผนการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยจะมีคณะกรรมการที่มาจากโรงพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน สภาวิชาชีพ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนมูลนิธิที่ทำงานกู้ชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันดำเนินการ ใช้หมายเลข 1669 แจ้งเหตุเดียวกันทั่วประเทศ ตามกฎหมายฉบับนี้ ผู้ที่มีสิทธิ์ช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บผู้ป่วย จะต้องเป็นมืออาชีพทั้งอาสาสมัครและผู้ประกอบวิชาชีพที่ผ่านการอบรมด้านนี้เป็นอย่างดี มีการขึ้นทะเบียนการประกอบวิชาชีพ รถพยาบาลฉุกเฉินต้องมีมาตรฐานมีเครื่องมือแพทย์ตามที่กำหนด และจะไม่มีปัญหาการฮั้วผู้ป่วย หรือการปฏิเสธการรับผู้ป่วยที่มีไม่มีเงิน ซึ่งจะมีการออกข้อกำหนดเรื่องบทลงโทษต่อไป ***************************** 26 ธันวาคม 2550


   
   


View 14    26/12/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ