กระทรวงสาธารณสุข เผยยอดผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ในรอบ 9 เดือนปีนี้ มีผู้บาดเจ็บ 1,805 ราย เสียชีวิต 428 ราย ใช้ค่ารักษาเกือบ 8 ล้านบาท เร่งพัฒนาระบบการช่วยชีวิต โดยอบรมชาวบ้าน หน่วยกู้ภัย อสม. ให้สามารถดูแลระบบการหายใจของผู้บาดเจ็บ ป้องกันไม่ให้สมองขาดออกซิเจน ผู้บาดเจ็บไม่กลายเป็นผู้พิการ
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรง จากปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รวบรวมข้อมูลผู้มารับการรักษาและชันสูตรพลิกศพ ที่โรงพยาบาลของรัฐ 47 แห่ง ในจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในรอบ 9 เดือนปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม กันยายน 2550 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 973 ครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ 1,805 ราย เสียชีวิต 428 ราย อัตราป่วยตายสูงเกือบร้อยละ 25 และมีผู้ได้รับผลกระทบในครอบครัวของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเกือบ 1,000 คน
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า พื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์มากที่สุดคือ จังหวัดนราธิวาส 341 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 648 ราย เสียชีวิต 166 ราย ยะลา 306 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 566 ราย เสียชีวิต 111 ราย ปัตตานี 261 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 460 ราย เสียชีวิต 112 ราย สงขลา 57 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 122 ราย เสียชีวิต 37 ราย เมื่อแยกรายอำเภอพบอัตราการบาดเจ็บสูงสุดที่ อำเภอยะหา จ.ยะลา บาดเจ็บ 123 ราย รองลงมาคือ บันนังสตา 125 ราย บาเจาะ 90 ราย เวลาที่เกิดเหตุการณ์พบมากในช่วง 07.00-08.00 น. และ 20.00-21.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 70 อายุระหว่าง 15-44 ปี เป็นเพศชายกว่าร้อยละ 80 และกว่าร้อยละ 80 ถูกทำร้ายจากวัตถุระเบิดและปืน รวมใช้งบค่ารักษาผู้บาดเจ็บทั้งหมดเกือบ 8 ล้านบาท
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การออกปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บจากเหตุความรุนแรงในภาคใต้ ดำเนินการได้ยากลำบากกว่าพื้นที่ทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ โดยหน่วยกู้ชีพได้ออกปฏิบัติการช่วยชีวิตยังที่เกิดเหตุและนำส่งโรงพยาบาล 143 ราย ผู้บาดเจ็บส่วนหนึ่งเดินทางมาโรงพยาบาลเอง หรือตำรวจทหารนำส่ง ใช้เวลาเฉลี่ยรายละ 30 นาที ซึ่งตามมาตรฐานได้ตั้งเป้าภายใน 10 นาทีหลังวางหูโทรศัพท์รับแจ้งเหตุ โดยผู้บาดเจ็บหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 47 แห่ง มีการส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากการบาดเจ็บรุนแรงหรือมีอาการแทรกซ้อนจำนวน 359 ราย ส่วนใหญ่นำส่งโดยรถพยาบาล ใช้เวลาเดินทางเฉลี่ยรายละ 50 นาที
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี ในการแก้ไขปัญหาการช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้จังหวัดต่างๆ จัดอบรมอาสากู้ชีพในระดับชาวบ้าน โดยเน้นเรื่องการกระตุ้นการหายใจ การช่วยเป่าปาก ผายปอด เพื่อป้องกันไม่ให้สมองของผู้บาดเจ็บขาดออกซิเจน ซึ่งหากขาดออกซิเจนเกิน 4 นาที จะทำให้การรักษาได้ผลน้อย โอกาสที่ผู้บาดเจ็บจะฟื้นตัวริบหรี่มาก ขณะนี้โรงพยาบาลสุไหงโกลกได้นำร่องอบรมไปแล้ว มีทั้งชาวบ้าน อสม. หน่วยอาสาสมัครกูภัยต่างๆ สนใจเข้าอบรมประมาณ 200 คน ซึ่งหากมีผู้บาดเจ็บในพื้นที่ จะสามารถให้การดูแลขั้นต้นระหว่างรอหน่วยแพทย์ไปรับ และส่งตัวผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาล ทำให้มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น
**************************** 24 ธันวาคม 2550
View 13
24/12/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ