สาธารณสุข เผยไวรัสโปลิโอกำลังคืบประชิดไทย แม้ไทยปลอดโรคนี้มากว่า 10 ปี โดยในปีนี้พบคนป่วยในประเทศพม่ามากถึง 14 ราย กำหนดรณรงค์หยอดวัคซีนเพิ่มระดับภูมิต้านทานโรคโปลิโอครั้งใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด และเด็กต่างด้าวอายุต่ำกว่า 15 ปี รวมกว่า 3 ล้านคน วันที่ 26 ธันวาคม 2550 และ 23 มกราคม พ.ศ. 2551 เน้นพิเศษใน กทม. 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดที่มีชายแดนติดประเทศพม่า วันนี้ (21 ธันวาคม 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์กิตติ กิตติอำพน รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ผู้แทนโรตารี่สากล แถลงข่าว การรณรงค์หยอดวัคซีน กวาดล้างโรคโปลิโอระดับชาติ ประจำปี 2550 นายแพทย์มรกต กล่าวว่า การรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอ เป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยเพิ่มระดับภูมิคุมกันโรค ในเด็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่พอที่จะป้องกันโรคได้ ซึ่งไทยได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกว่า เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กวาดล้างโรคโปลิโอได้สำเร็จ และไม่พบโรคนี้เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยใช้ 4 มาตรการหลัก ได้แก่ การให้วัคซีนป้องกันโรคในระบบปกติ คือหยอด 3 ครั้งตามช่วงอายุ 1 ปีแรก ได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 90 ในทุกตำบล การเฝ้าระวังเด็กที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลัน ในเด็กอายุ ต่ำกว่า 15 ปี การสอบสวนและควบคุมโรคด้วยการให้วัคซีนแก่เด็กในหมู่บ้านที่พบผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงทันที และการรณรงค์หยอดวัคซีนโปลิโอเสริมระบบปกติพร้อมกันทั่วประเทศ ติดต่อกัน 2 ครั้งเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรคให้แก่เด็กให้คลอบคลุมมากที่สุด แต่จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคโปลิโอในปี 2550 พบว่ายังไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากมีปัญหาการระบาดข้ามประเทศ จากประเทศที่ยังมีโรคโปลิโอเป็นโรคประจำถิ่น ไปยังประเทศที่ปลอดจากโรคโปลิโอแล้ว เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันป้องกัน กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดวันรณรงค์หยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอระดับชาติ ในเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี และเด็กต่างด้าวอายุต่ำกว่า 15 ปี พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2550 และวันที่ 23 มกราคม 2551 เพื่อเพิ่มระดับภูมิต้านทานโรค หากมีเชื้อโรคโปลิโอเล็ดลอดเข้ามา เด็กไทยก็จะไม่ป่วยจากโรคดังกล่าว ซึ่งไทยได้ดำเนินงานกวาดล้างโรคโปลิโออย่างต่อเนื่องมา 13 ปีแล้ว ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคโปลิโอในภาพรวมทั่วโลก ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง 12 ธันวาคม 2550 จำนวนผู้ป่วยลดลงกว่าร้อยละ 99 จาก 350,000 ราย ใน 125 ประเทศ ใน พ.ศ. 2531 เหลือเพียง 820 ราย โดย กระจายใน 11 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มี 4 ประเทศที่ยังมีโรคโปลิโอเป็นโรคประจำถิ่น ได้แก่ อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดที่อินเดีย 452 ราย เนื่องจากความหนาแน่นของประชากร ทำให้ได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึง รองลงมาคือไนจีเรีย 242 ราย ส่วนอีก 7 ประเทศเคยปลอดโรคมาแล้ว แต่มีการระบาดในประเทศอีก เนื่องจากได้รับเชื้อจากนอกประเทศ ได้แก่ ชาด สาธารณรัฐคองโก ไนเจอร์ ซูดาน แองโกลา โซมาเลีย และ พม่า สำหรับพม่านั้น เคยปลอดโรคโปลิโอมา 7 ปี เริ่มพบผู้ป่วยในปี 2549 โดยเป็นผู้ป่วยโปลิโอจากวัคซีนกลายพันธุ์ และในปี 2550 พบผู้ป่วยโปลิโอ 14 ราย (รวมผู้ป่วยโปลิโอ 11 ราย และ ผู้ป่วยโปลิโอจากวัคซีนกลายพันธุ์ 3 ราย) ปัญหาสำคัญเกิดจากได้รับเชื้อโปลิโอจากประเทศอินเดีย และจากความไม่ครอบคลุมของวัคซีนในประเทศพม่า ซึ่งมีหลายพื้นที่ต่ำกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะบริเวณที่ติดกับชายแดนไทย ดังนั้นประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะมีการนำเชื้อโปลิโอเข้าประเทศได้ตลอดเวลา จากการท่องเที่ยว การค้าขาย การเคลื่อนย้ายแรงงาน ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ติดตามการดำเนินงานเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก ในจังหวัดชายแดนไทย-พม่า ที่จังหวัดตาก พบว่าระบบการเฝ้าระวังของไทยมีความไวพอเพียงที่จะตรวจพบผู้ป่วยได้ทัน และมีการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มาตรฐานห้องปฏิบัติการของไทย สามารถตรวจวินิจฉัยโรคโปลิโอได้แม่นยำ รู้ผลรวดเร็วจากเดิม 28 วัน เหลือ 14 วัน และสามารถจำแนกสายพันธุ์เชื้อไวรัสโปลิโอ ซึ่งปัจจุบันมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์โปลิโอรุนแรงก่อโรค และสายพันธุ์วัคซีน จาก 14 วัน เหลือ 7 วันเท่านั้น นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า การรณรงค์หยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอในปีนี้ มีเป้าหมายในเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 3 ล้านคน โดยให้วัคซีนครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งจังหวัดใน 19 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เชียงใหม่ กำแพงเพชร นนทบุรี ปทุมธานี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ ระยอง กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ระนอง และพังงา ส่วนที่เหลืออีก 57 จังหวัด จะรณรงค์หยอดเฉพาะในอำเภอ/ตำบล/เทศบาล ที่เป็นพื้นที่เสี่ยง คือ เด็กในกลุ่มด้อยโอกาส ในชุมชนแออัด ชุมชนที่มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่ประจำ พื้นที่ทุรกันดาร เข้าถึงยาก พื้นที่ที่มีความไม่สงบ นอกจากนี้หากพื้นที่ใดที่มีการประเมินโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแล้วพบว่า เด็กในพื้นที่นั้นได้รับวัคซีนต่ำกว่ามาตรฐาน ก็นับเป็นพื้นที่เสี่ยงที่สำคัญ นอกจากนี้ยังรณรงค์หยอดวัคซีนให้เด็กต่างด้าวอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ติดตามมากับครอบครัวซึ่งมีประมาณ 300,000 คน หยอดคนละ 2 หยดต่อครั้ง ทางด้านนายแพทย์กิตติ กิตติอำพน รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคโปลิโอเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความพิการในเด็ก มักเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ เชื้อเข้าสู่ร่างกายจากการกินอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป เชื้อจะแบ่งตัวในลำไส้ใหญ่และเข้ากระแสโลหิต บางส่วนเข้าสู่ระบบประสาท ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณไขสันหลัง มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรงจะเป็นอัมพาตที่กล้ามเนื้อ ทำให้พิการแขนขาลีบ และอาจเสียชีวิตได้หาก เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อกระบังลมที่ช่วยในการหายใจ การหยอดวัคซีนเป็นมาตรการป้องกันโรคโปลิโอที่ดีที่สุด จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทุกคน นำบุตรหลานไปรับการหยอดวัคซีนที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะมีป้ายแสดงไว้ ทั้งนี้วัคซีนดังกล่าว เด็กสามารถรับซ้ำหลายครั้งได้ ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด โดยกำหนดรณรงค์หยอด 2 ครั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2550 และวันที่ 23 มกราคม 2551 ****************** 21 ธันวาคม 2550


   
   


View 8    21/12/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ