โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ เปิดคลินิกพฤติกรรมเด็กดี เพิ่มโอกาสในการรักษาเด็กสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ สติปัญญาบกพร่องและออทิสติก ให้ได้รับการรักษาใกล้บ้าน ช่วยเพิ่มสุขและลดทุกข์ของประชาชน

          นายแพทย์สิริชัย  นามทรรศนีย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ (รพร.กุฉินารายณ์)ได้เปิดคลินิกพฤติกรรมเด็กดี รักษาเด็กที่มีปัญหา สมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ สติปัญญาบกพร่องและออทิสติก เนื่องจากที่ผ่านมาเด็กกลุ่มนี้เข้าถึงบริการน้อยมาก เพียง 49 คน จากที่คัดกรองพบ 616 คน เพราะต้องส่งต่อเข้ารับการรักษาต่อที่สถาบันสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ที่อยู่ไกลจาก อ.กุฉินารายณ์ถึง 160 กิโลเมตร  ผู้ปกครองลำบากในการเดินทางไม่สามารถพาไปรักษาได้ ทำให้เกือบทั้งหมดไม่สามารถไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องได้

          ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้ได้เข้าถึงการรักษา ช่วยเพิ่มสุขและลดทุกข์ของประชาชนโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยเป็นจิตแพทย์พี่เลี้ยงในการดำเนินงานและพัฒนาทีมงาน ทั้งด้านวิชาการความรู้และกระบวนการทำงานประกอบไป ด้วยสหวิชาชีพ นำโดย พญ.มณฑกาญจน์ สุวรรณวงษ์ กุมารแพทย์ ร่วมกับ เภสัชกร  พยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่น พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักกายภาพบำบัด จนสามารถจัดตั้งคลินิกพฤติกรรมเด็กดีได้สำเร็จ เริ่มเปิดบริการในเดือน มกราคม 2560 ให้การรักษา ส่งเสริมและป้องกันโรคในเด็กที่มีปัญหา สมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ สติปัญญาบกพร่องและออทิสติก ให้ได้รับการรักษาที่ใกล้บ้านและเข้าถึงได้สะดวกมากขึ้น โดยการมีส่วนร่วมของบุคลากรสาธารณสุข ครู และพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน

  

          ผลการดำเนินงาน 1 ปี ที่ผ่านมา ให้การดูแลรักษาเด็กสมาธิสั้น  50 คน ออสทิสติก 9 คน การเรียนบกพร่อง 52คน สติปัญญาบกพร่อง 20 คน การที่เด็กเข้าถึงบริการใกล้บ้านและสะดวกขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัด ครูและผู้ปกครองพึงพอใจในผลการรักษา เมื่อผู้ปกครองเห็นผลการรักษาได้บอกต่อกันมากขึ้น ทำให้เด็กเข้าถึงบริการมากขึ้น

          ทั้งนี้ โรคสมาธิสั้นเป็นโรคทางจิตเวชในกลุ่มเด็กที่พบได้ประมาณร้อยละ 5 ของเด็กอายุ 8-11 ปี และร้อยละ 5-10 ของเด็กวัยเรียน โดยพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 4-6 เท่า อาการสำคัญ คือ ขาดสมาธิ ซน อยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่น ทำให้มีผลต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น รู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ค่า ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวได้  ผลกระทบของผู้ป่วยสมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการประเมินและไม่ได้รับการบำบัดรักษานั้น มีความรุนแรงและเป็นปัญหาระยะยาวทั้งต่อตัวเด็ก ครอบครัว และสังคม เช่น รายงานการศึกษาเด็กที่ต้องคดีในสถานพินิจกรุงเทพมหานคร อายุ 11-18 ปี เป็นกลุ่มโรคสมาธิสั้นอย่างเดียวร้อยละ28 และเป็นกลุ่มโรคสมาธิสั้นร่วมกับภาวะเกเรก้าวร้าวถึงร้อยละ 82

 

************************************* 25 สิงหาคม 2561

 



   
   


View 1316    25/08/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ