กระทรวงสาธารณสุข จัดส่งยารักษาโรคจากน้ำท่วมให้จังหวัดยะลาและนราธิวาส จำนวน 8,000 ชุด และสำรองยาน้ำกัดเท้าเพิ่มอีก 20,000 ตลับ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการรักษาประชาชนทุกวัน วันละกว่า 30 ทีม ล่าสุดพบประชาชนเจ็บป่วยแล้วกว่า 2,300 ราย เป็นไข้หวัดมากที่สุด และพบโรคตาแดง 16 ราย แต่ยังไม่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดยะลา เมื่อเช้าวันนี้ (18 ธันวาคม 2550) ว่า สถานการณ์ขณะนี้ น้ำท่วมทุกอำเภอ ในจำนวนนี้ท่วมที่สถานีอนามัย 2 แห่งคือ สถานีอนามัยบ้านยะลาและบ้านบูดี อำเภอเมือง แต่เคลื่อนย้ายอุปกรณ์การแพทย์ได้ทัน ไม่ได้รับความเสียหาย และท่วมที่โรงพยาบาลกาบัง อ.กาบัง เล็กน้อย ทุกแห่งสามารถให้บริการได้ตามปกติ ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการวันละ 10 ทีม มีผู้ป่วยวันละประมาณ 200 ราย สำหรับที่จังหวัดนราธิวาสได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่วันละกว่า 20 ทีม
ผลการให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในจังหวัดยะลาและนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 7-17 ธันวาคม 2550 มีประชาชนเจ็บป่วยแล้วกว่า 2,300 ราย โดยที่จังหวัดนราธิวาสมีผู้ป่วย 1,910 ราย ไม่มีใครมีอาการหนัก โดยพบไข้หวัดมากที่สุด 1,030 ราย รองลงมาได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า 327 ราย มีผื่นคันตามตัว 241 ราย และพบโรคตาแดง 16 ราย ส่วนที่จังหวัดยะลาพบคนป่วยประมาณ 400 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคระบาดที่อาจมากับน้ำท่วม เช่น โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรียแล้ว ส่วนโรคตาแดงที่พบที่จังหวัดนราธิวาสนั้น เกิดจากการใช้น้ำไม่สะอาดล้างหน้า เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดในวงกว้างได้แล้ว
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาสามัญประจำบ้านและยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งจะมียาแก้ปวดหัว ปวดท้อง ผงน้ำตาลเกลือแร่แก้ท้องเสีย ยาลดไข้ ชุดทำแผล ให้จังหวัดนราธิวาส 4,000 ชุด และให้จังหวัดยะลา 4,000 ชุด ประกอบด้วย ยาสามัญประจำบ้าน 2,000 ชุด สเปรย์พ่นรักษาโรคน้ำกัดเท้า 1,200 ขวด และครีมทารักษาโรคน้ำกัดเท้า 1,200 ตลับ โดยได้สั่งการให้โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ผลิตครีมรักษาโรคน้ำกัดเท้าสำรองไว้อีก 20,000 ตลับ เพื่อจัดส่งให้พื้นที่น้ำท่วมต่อไป เพราะหากน้ำท่วมนานหลายวัน ปัญหาโรคน้ำกัดเท้าก็จะมากขึ้น
นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า ได้ให้สถานบริการที่อยู่ในที่ลุ่ม ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เช่น อำเภอรามัน และส่วนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี ขนย้ายเวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ไว้ที่ในที่สูงทั้งหมดแล้ว และเตรียมการเรื่องการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ยาสามัญประจำบ้าน เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยแจกไปแล้วทุกอำเภอๆละกว่า 1,500 ชุด และสำรองสารส้ม ผงคลอรีนไว้จำนวน 500 กิโลกรัม เพื่อใช้สำหรับล้างบ่อน้ำใช้ ฆ่าเชื้อโรคในน้ำ เนื่องจากประชาชนกว่าร้อยละ 70 ยังนิยมใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้น
*********************** 18 ธันวาคม 2550
View 11
18/12/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ