ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมสมาชิกองค์กรรัฐสภาแห่งเอเชียด้านประชากรและการพัฒนา ป้องกันและลดอันตรายจากการติดเชื้อเอดส์ในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด เผยทั่วโลกมีเหยื่อเอดส์รายใหม่วันละกว่า 1 หมื่นราย ส่วนไทยติดเชื้อเพิ่มวันละประมาณ 40 ราย ต้นเหตุมาจากเพศสัมพันธ์และการฉีดยาเสพติดเข้าเส้น ปรับยุทธศาสตร์เน้นระบบป้องกัน ตั้งเป้าปี 2551 ลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 7,500 ราย เช้าวันนี้ (14 ธันวาคม 2550) ที่ โรงแรมอมารี รินคำ จ.เชียงใหม่ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเลขาธิการ AFPPD เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค เรื่องการยกระดับการป้องกันและลดอันตรายจากการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด จัดโดยองค์กรสมาชิกรัฐสภาแห่งเอเชียด้านประชากรและการพัฒนา (The Asian Forum of Parliamentarians on Population and Development - AFPPD) และเครือข่ายการป้องกันอันตรายอาเซียน ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสหประชาชาติด้านประชากร (United Nation Population Fund–UNFPA)เพื่อเพิ่มพูนแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์การทำงานด้านยาเสพติดและโรคเอดส์ การลดอันตรายและผลกระทบด้านสังคม และนำข้อมูลไปใช้กำหนดนโยบายและผลักดันเป็นกฎหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนแต่ละประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐสภาและเจ้าหน้าที่กรรมมาธิการรัฐสภาของประเทศสมาชิก ได้แก่ อินโดนีเชีย เกาหลี ญี่ปุ่น เคอร์กิซสถาน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม มองโกเลียและไทย เข้าร่วมประชุมรวม 22 คน นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ข้อมูลของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลกปี 2549 คาดมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ทั่วโลกประมาณ 39.5 ล้านคน แยกเป็นผู้ใหญ่ 37.2 ล้านคน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 2.3 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 2.9 ล้านราย โดยแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 11,000 ราย สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ปี 2527 จนถึง 30 พฤศจิกายน 2550 คาดมีผู้ติดเชื้อเอดส์สะสมกว่า 1 ล้านราย ในจำนวนนี้ยังมีชีวิตอยู่ 546,578 ราย และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณวันละ 40 ราย โดยกว่าร้อยละ 80 มาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย รองลงมาเป็นผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด เกือบร้อยละ 5 นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า โรคเอดส์มีผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจและความมั่นคง ทำให้ขาดกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นภาระด้านงบประมาณรักษาพยาบาลอย่างมาก เฉพาะยาต้านไวรัสขั้นพื้นฐานและการรักษาโรคฉวยโอกาสต่างๆ ต้องใช้ประมาณ 85,000 บาท/คน/ปี หากติดเชื้อเอดส์ตั้งแต่อายุ 20 ปี อาจต้องดูแลรักษาพยาบาลนานกว่า 20 ปี หรือตลอดชีวิต เฉลี่ยคนละ 2 ล้านบาท และหากเชื้อดื้อยาต้องจ่ายเพิ่มเป็นคนละ 4 ล้านบาท ดังนั้น จึงต้องทุ่มงบประมาณไปในระบบป้องกัน ไม่ให้คนติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งนี้ ในปี 2551 ได้ตั้งเป้าลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 7,500 ราย และภายในปี 2553 เหลือไม่เกิน 5,300 คน โดยส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ชายรักชาย ผู้ให้และผู้ใช้บริการทางเพศ กลุ่มวัยรุ่น และลดการติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในกลุ่มผู้ติดยาเสพติด พร้อมทั้งขยายการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ให้ครอบคลุมภายในปี 2553 โดยในปี 2551 ตั้งเป้าให้ยาต้านไวรัสผู้ป่วยโรคเอดส์ 130,000 ราย นอกจากนี้ ยังขยายบริการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดแบบสมัครใจ และดูแลด้านสังคมแก่ครอบครัวผู้ป่วย ทั้งด้านอาชีพและสวัสดิการต่างๆ ในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ ให้ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80 ด้วย สำหรับองค์กรสมาชิกรัฐสภาแห่งเอเชียด้านประชากรและการพัฒนา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสพ รัตนากร เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เพื่อเป็นองค์การกลางระหว่างสมาชิกรัฐสภานานาชาติ ในเรื่องประชากรกับการพัฒนา โดยให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงการเพิ่มของประชากร กับปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์ เอชไอวี/เอดส์ โรคติดต่อต่างๆ ความปลอดภัยด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม ประชากรสูงอายุ การอพยพย้ายถิ่น ความเท่าเทียมกันทางเพศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ธันวาคม ************************************** 14 ธันวาคม 2550


   
   


View 16    14/12/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ