สาธารณสุข เตรียมนำร่องผู้ป่วยล้างไตสิทธิบัตรทองใน 23 รพ.ที่มีความพร้อม กระจายทั่วประเทศ 1 มกราคม 2551 และเตรียมขยายครบทุกจังหวัด วันที่ 1 ตุลาคม 2551 พร้อมตั้งงบระยะยาว 10 ปี กว่า 80,000 ล้านบาท เบื้องต้นปี 2551 ใช้งบเหลือจากกองทุนเอดส์ 836 ล้านบาท วันนี้ (13 ธันวาคม 2550) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเตรียมความพร้อมบุคลากรในการพัฒนาศักยภาพสถานบริการ รองรับระบบบริการทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อชี้แจงนโยบายและแนวทางการดำเนินงานให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ในสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แพทย์โรคไต ศัลยแพทย์ พยาบาลหน่วยไตเทียมทั่วประเทศ จำนวน 600 คน นายแพทย์มงคล กล่าวว่า จากรายงานด้านสุขภาพปี 2548 พบผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจำนวน 15,736 ราย มีผู้ป่วยรายใหม่ที่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจำนวน 6,792 ราย และผู้ป่วยรายใหม่ที่ล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis หรือ CAPD) จำนวน 388 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีมติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 เห็นชอบให้ขยายสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในเรื่องการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในกรณีที่สามารถหาไตบริจาคได้ รวมถึงการล้างไตทางหน้าท้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ป่วยรายเก่าและผู้ป่วยรายใหม่ โดยจะเริ่มให้บริการทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เพื่อป้องกันมิให้ผู้ป่วยและครอบครัวรับภาระค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้น และสร้างช่องทางในการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า การให้บริการดังกล่าวจะเริ่มในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน 23 แห่ง และจะขยายให้ครบทุกจังหวัดในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งผู้ป่วยรายใหม่และรายเก่าทุกรายที่เข้าโครงการ จะได้รับการให้บริการล้างไตทางหน้าท้องฟรี ส่วนผู้ป่วยรายเก่าที่ใช้วิธีการฟอกเลือดอยู่ หากจะใช้วิธีเดิมไม่เปลี่ยนเป็นล้างไตทางหน้าท้อง จะต้องร่วมจ่ายค่าฟอกเลือดประมาณหนึ่งในสามของค่าบริการ สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ที่จะใช้วิธีฟอกเลือด ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่ใช้ในช่วง พ.ศ. 2551 – 2560 เป็นระยะเวลา 10 ปี ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยแยกจากงบเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 88,806 ล้านบาท โดยในปี 2551 ใช้งบประมาณที่เหลือจากการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ปี 2550 จำนวน 836 ล้านบาท ซึ่งมีเหลือเนื่องจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และราคายาที่ต่ำลงจากการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ และในปี 2552 จะมีการขอตั้งงบประมาณจำนวน 2,466 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาระบบริการการล้างไตผ่านหน้าท้อง กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ สำนักตรวจราชการ และสำนักวิชาการ เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาหน่วยบริการทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมของระบบบริการ รองรับการดำเนินงานตามโครงการ โดยระยะแรกเน้นที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ด้านนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลแล้ว ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคด้วย เนื่องจากผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่พบร่วมกับโรคไตวายเรื้อรังคือ อายุที่มากขึ้น โดยอายุที่มากขึ้นทุก 10 ปี มีโอกาสที่จะเป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง สูง 2.99 เท่า และร้อยละ 70 ของผู้ป่วยไตวายที่กำลังรักษาตัวขณะนี้ทั่วประเทศ เกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีผู้ป่วยประมาณ 10 ล้านคน จะต้องควบคุมอาการเพื่อไม่เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา และขณะเดียวกันต้องไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับหน่วยบริการที่มีความพร้อมในปัจจุบันมี 23 แห่ง ประกอบด้วย รพ.นครพิงค์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ รพ.ลำปาง จ.ลำปาง รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก รพ.แม่สอด จ.ตาก รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร รพ.เจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี รพ.ระยอง รพ.ฉะเชิงเทรา รพ.ชลบุรี รพ.อุดรธานี รพ.มหาสารคาม รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.วชิระภูเก็ต รพ.สุราษฏร์ธานี รพ.สงขลานครินทร์ รพ.นพรัตน์ราชธานี และรพ.บ้านแพ้วพร้อมมิตร จ.กรุงเทพมหานคร ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330 หรือที่โรงพยาบาลทั้ง 23 แห่ง ตลอดเวลา ****************************13 ธันวาคม 2550


   
   


View 22    13/12/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ