รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยแนวโน้มภัยจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยมีมากขึ้น ทั่วโลกมีผู้หญิงทำแท้งปีละ 20 ล้านคน เสียชีวิตชั่วโมงละ 8 คน ส่วนในไทยพบการทำแท้งทำให้ติดเชื้ออย่างรุนแรงสูงถึงร้อยละ 40 ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลปีละกว่า 10,000 คน เสียชีวิต 12 คน เร่งระดมหาทางช่วยเหลือป้องกันทั้งฝ่ายการแพทย์ กฎหมาย พร้อมนำเทคนิคใหม่รักษาหญิงหลังแท้งแทนการขูดมดลูก มีความปลอดภัยสูงกว่าเดิม ขณะนี้มีใช้ในโรงพยาบาลแล้วกว่า 100 แห่ง
เช้าวันนี้ (12 ธันวาคม 2550) ที่โรงแรมริมกก จังหวัดเชียงราย นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนองค์กรวิชาชีพทางด้านกฎหมาย ด้านการแพทย์ ตำรวจ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย จำนวนประมาณ 100 คน เรื่องการยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบังคับของแพทยสภา ป้องกันปัญหาการแท้งที่ไม่ปลอดภัย เพื่อระดมความร่วมมือหาทางแก้ไขปัญหานี้ และช่วยเหลือผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ขณะยังไม่พร้อม เป็นไปตามพันธะสัญญาองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ โดยให้ทุกประเทศให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพสตรีวัยเจริญพันธุ์ ทั้งสิทธิและการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพปลอดภัยภายใน พ.ศ. 2558 เนื่องจากขณะนี้การแท้งที่ไม่ปลอดภัยกำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงต่อผู้หญิงและสังคม เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้ออย่างรุนแรง และทำให้ผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 13 ต่อปี และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่สามารถป้องกันและรักษาได้ง่าย
นายแพทย์มรกตกล่าวว่า องค์การสหประชาชาติรายงานล่าสุดในปี 2548 มีผู้หญิงทั่วโลกตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ประมาณ 80 ล้านคน ในจำนวนนี้แก้ปัญหาด้วยการทำแท้ง 19-20 ล้านคน โดยร้อยละ 55 อยู่ในประเทศแถบเอเชีย ในจำนวนนี้ติดเชื้อหลังทำแท้งปีละกว่า 3 ล้านคน และเสียชีวิตจากการทำแท้งปีละ 68,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน หรือตาย 1 คนทุก 8 นาที และมีผู้หญิงอีกกว่า 1 ล้านคนที่เกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา เช่น อาจตั้งครรภ์ยากขึ้น หรือถูกตัดมดลูกทิ้ง โดยผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกวิเคราะห์ว่าอัตราตายจากการทำแท้งเถื่อน สูงกว่าการทำแท้งที่ปลอดภัยกว่า 100 เท่าตัว ขณะนี้มีประเทศที่ใช้วิธีการยุติการตั้งครรภ์แบบถูกกฎหมาย ปลอดภัยแล้ว 84ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว อัตราการตายลดลงเหลือไม่ถึง 1 คนต่อ 1 แสนคน
อัตราตายของแม่จากการตั้งครรภ์ เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพบริการสาธารณสุขของประเทศในด้านสุขภาพของผู้หญิง ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ที่ 24 คนต่อการเกิดมีชีพทุก 100,000 คน ถือว่าอยู่ระดับที่เทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่กลับพบการตายของผู้หญิงไทยจากการทำแท้งถึง 300 คน ต่อผู้หญิงที่ทำแท้งทุก 100,000 คน ขณะนี้ไทยมีผู้หญิงที่อยู่ในวัยที่มีลูกได้ คืออายุ 15-44 ปี จำนวน 16 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ คาดว่าแต่ละปีมีผู้หญิงประสบปัญหาแท้งที่ไม่ปลอดภัยประมาณ 300,000 คน นายแพทย์มรกตกล่าว
นายแพทย์มรกตกล่าวต่อไปว่า จากการศึกษาสถานการณ์การแท้งในไทยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 8 ปีมานี้ พบว่ามีหญิงไทยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลภาครัฐ 787 แห่งทั่วประเทศ จากภาวะแทรกซ้อนหลังแท้งลูก 45,990 ราย เกือบ 1 ใน 3 หรือประมาณ 13,000 คน ทำแท้งเถื่อน ซึ่งร้อยละ 70 อายุต่ำกว่า 25 ปี โดยเสียค่าทำแท้งเฉลี่ยครั้งละ 2,684 บาท สูงสุด 20,500 บาท
การแท้งที่ไม่ปลอดภัย ก่อให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนรุนแรงสูงถึงร้อยละ 40 สาเหตุหลักได้แก่ การติดเชื้อทางกระแสเลือดอย่างรุนแรง เนื่องจากมีการใส่สารเหลวต่างๆ หรืออุปกรณ์ของแข็งที่ไม่สะอาดเข้าไปในช่องคลอด ในโพรงมดลูก พบร้อยละ 22 รองลงมาคือ มดลูกทะลุพบร้อยละ 7.4 ในปี 2547 มีผู้หญิงเข้ารักษาตัวหลังแท้งลูก 13,383 คน เสียชีวิต 12 คน ข้อมูลนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในกลุ่มที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น หากประมาณการผลเสียแล้ว ประเทศไทยมีความสูญเสียเศรษฐกิจ จากการแท้งที่ไม่ปลอดภัยปีละกว่า 300 ล้านบาท
นายแพทย์มรกต กล่าวต่ออีกว่า ในการแก้ปัญหาการแท้งที่ไม่ปลอดภัยของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเน้นดำเนินการ 2 ส่วนได้แก่ การป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ โดยให้ความรู้ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เรื่องเพศศึกษา การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการคุมกำเนิด และการเพิ่มคุณภาพการดูแลรักษาผู้หญิงที่แท้งลูก ทั้งจากทำแท้งและแท้งเองให้ปลอดภัย
ทั้งนี้ แพทยสภาได้กำหนดข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548 ซึ่งได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2548 เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ให้แพทย์สามารถปฏิบัติได้ เมื่อจำเป็นต้องให้บริการยุติการตั้งครรภ์ โดยมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อย่างชัดเจน 4 ประการ ได้แก่ เมื่อแม่มีปัญหาสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต หรือมีความเครียดสูง เนื่องจากเด็กทารกที่ความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรง หรือเสี่ยงเป็นโรคทางพันธุกรรมรุนแรง หรือตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน แต่เนื่องจากการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมไทย กระทรวงสาธารณสุขจะได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รวมทั้งแพทย์ที่ให้บริการทั่วประเทศโดยเร็ว เพื่อให้ผู้หญิงที่มีปัญหาได้เข้าถึงบริการที่ปลอดภัยมากขึ้น
ทางด้านแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการเพิ่มคุณภาพการรักษาผู้หญิงหลังแท้งลูก ที่มีภาวะตกเลือดจากการแท้งไม่สมบูรณ์ กรมอนามัยได้ร่วมมือกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี (แห่งประเทศไทย) และคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ นำเทคโนโลยีในการรักษาที่สมัยใหม่ ที่เรียกว่า เอ็มวีเอ (MVA : Mannual Vacuum Aspirator) ซึ่งใช้กระบอกพลาสติกสุญญากาศ ดูดเอาชิ้นส่วนเศษรก หรือชื้นเนื้อที่ตกค้างในโพรงมดลูกออกมา เป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทั่วโลกใช้ แทนการใช้เครื่องมือชนิดเดิมที่มีลักษณะเป็นสแตนเลสแหลมคมใช้ขูดมดลูก ซึ่งใช้ในวงการแพทย์มากว่า 50 ปี และเสี่ยงต่อมดลูกทะลุ และผู้รับบริการเจ็บปวดมากกว่า การใช้กระบอกดูดนี้ ทำได้ง่ายมาก ใช้เวลาเพียง 2-5 นาที ราคาเครื่องประมาณ 4,500 บาท ค่ารักษาถูกกว่าเดิมมาก
นอกจากนี้ กระบอกสุญญากาศสามารถใช้ตรวจรักษาโรคทางนรีเวชอื่นๆ แทนการใช้เครื่องมือขูดมดลูกวิธีเดิมได้ด้วย ขณะนี้กรมอนามัยได้จัดอบรมแพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลต่างๆ เรื่องการป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัย และการรักษาอาการตกเลือดจากการแท้งที่ไม่สมบูรณ์ ไปแล้วกว่า 100 แห่ง ให้สามารถให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ปลอดภัยนี้ได้ ในปี 2551 นี้จะอบรมเพิ่มอีกประมาณ 60 แห่ง และจะขยายการอบรมให้กับแพทย์ทั่วประเทศ และจะเสนอให้มีการหลักสูตรการเรียนการสอนนี้ในโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งด้วย
************************** 12 ธันวาคม 2550
View 10
12/12/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ