กระทรวงสาธารณสุขไทย พัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคที่มีแนวโน้มติดต่อระหว่างประเทศ ร่วมกับประเทศเวียดนาม ขณะนี้ไทยมีชาวต่างประเทศเดินทางเข้า-ออก ปีละกว่า 11 ล้านคน โดยกรมควบคุมโรคมีด่านสกัดตรวจโรค 61 แห่ง มีเครื่องตรวจจับอุณภูมิที่สนามบิน 15 เครื่อง วันนี้(10 ธันวาคม 2550) นายแพทย์สมศักดิ์ ไชยวัฒน์ นายแพทย์ 9 สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค นำคณะสื่อมวลชนเดินทางดูงานการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ของประเทศเวียดนาม และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศเวียดนามในการป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ ที่หน่วยควบคุมและป้องกันโรค นครโฮจิมินห์ เพื่อร่วมมือในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่อทั้งที่มีอยู่เดิมและโรคระบาดใหม่ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก ที่ทุกประเทศต้องร่วมมือควบคุมป้องกันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างไข้หวัดนกกับไข้หวัดใหญ่ และเชื้อโรคมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงพันธุ์ อยู่ตลอดเวลา นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ การคมนาคมขนส่ง ทั่วโลกมีความสะดวกรวดเร็วทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ประชาชนเดินทางไปมาหากันทั้งท่องเที่ยวและติดต่อธุรกิจได้รวดเร็ว สำหรับประเทศไทย มีจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับต่างประเทศถึง 30 จังหวัด มีชาวต่างประเทศที่เดินทางมาในไทย ปีละมากกว่า 11 ล้านคน รวมทั้งการที่ไทยเป็นสมาชิกข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS :Greater Mekong Sub-region ) ซึ่งมีสมาชิกทั้งสิ้น 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน ทำให้เกิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศและจุดข้ามแดนมากขึ้น จึงมีโอกาสที่เกิดการแพร่ระบาดโรคติดต่ออันตราย อย่างรวดเร็วถ้าไม่มีมาตรการป้องกันที่ได้มาตรฐานอย่างเป็นระบบ ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงได้เตรียมการและเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาดจากการเดินทางติดต่อกันด้วย โดยมี ด่านตรวจโรค ทั่วประเทศทั้งสิ้น 61 แห่ง ประกอบด้วยด่านท่าอากาศยาน 15 แห่ง ด่านท่าเรือ 16 แห่งและด่านพรมแดน 30 แห่ง ติดตั้งเครื่องตรวจจับคลื่นความร้อน(Thermos scanners) ที่มีทั้งหมดจำนวน 15 เครื่อง ประจำที่ท่าอากาศยานนานาชาติ และด่านตรวจคนเข้าเมืองใหญ่ๆ รวมทั้งดำเนินการออกกฎระเบียบให้สอดคล้องกฎอนามัยระหว่างประเทศพ.ศ.2548ทั้งนี้เพื่อควบคุมป้องกันโรคที่เกิดจากการเดินทางเข้าออกประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยได้จัดตั้งหน่วยสอบสวนเคลื่อนที่เร็วทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอมากกว่า 1,000 ทีม เตรียมห้องปฏิบัติการชันสูตรทั้งในส่วนกลางและระดับเขตจำนวน 13 แห่ง จัดเตรียมเวชภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ ทำแผนและซ้อมความพร้อมบุคลากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างด่านควบคุมโรคต่างๆ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาล ในพื้นที่ พร้อมปฏิบัติการทันทีที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ มีหน้าที่ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยให้กระทบกับการค้าและการเดินทางน้อยที่สุด โดยดำเนินการคัดกรองผู้ที่เดินทางระหว่างประเทศทั้งขาเข้าและขาออกจากประเทศไทย ควบคุมการดำเนินงานด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม เช่น สุขาภิบาลยานพาหนะระหว่างประเทศ สุขาภิบาลอาหารและน้ำ การขนส่ง รวมถึงการควบคุมสัตว์และแมลงนำโรค นอกจากนี้ยังให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ และหากมีผู้ป่วยโรคติดต่ออันตราย หรือโรคต้องห้ามเข้าประเทศ มีอำนาจในการแยกกักกัน หรือควบคุมไว้สังเกตการณ์ โดยโรคติดต่อที่มีแนวโน้มติดต่อระหว่างประเทศ มี 5 โรค ได้แก่ ไข้เหลือง ไข้ทรพิษ กาฬโรค อหิวาตกโรค และโรคซาร์ส และโรคที่ต้องรายงานองค์การอนามัยโลกทันที ได้แก่ ไข้ทรพิษ โปลิโอชนิดอัมพาต ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และโรคซาร์ส ประเทศไทยและเวียดนามมีความร่วมมือด้านสาธารณสุข ที่สำคัญ ได้แก่ ความร่วมมือการพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังโรคติดต่อ หรือ เอ็มบีดีเอส (MBDS: Makong Basin Disease Surveillance Network) ที่ลงนามความร่วมมือ ระหว่างรัฐมนตรีสาธารณสุข 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง ที่ประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 2544 และ ปี 2550 ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนามและจีน ได้ร่วมกันลงนามขยายข้อตกลงระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาและเสริมความเข้มแข็งของระบบเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญต่อจากครั้งแรก ที่ กรุงเจนีวา และการประชุมล่าสุดที่ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม เมื่อสิงหาคม 2550 ไทยรับเป็นหน่วยประสานเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านระบาดวิทยาให้ประเทศสมาชิก และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี - เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ที่ประชุม ที่กรุงเทพฯ เมื่อ กรกฏาคม 2550 ที่มีการจัดทำหลักสูตรเรื่องการสอบสวนโรคไข้หวัดนก เป็นภาษาท้องถิ่น การจัดทำกรณีศึกษาผู้ป่วยไข้หวัดนกของแต่ละประเทศ แลกเปลี่ยนกัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของทั้งสองประเทศ เห็นชอบที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการด้านสาธารณสุข ในการร่วมมือต่อสู้กับโรคระบาดต่างๆ เช่น โรคซาร์ส และโรคไข้หวัดนก อย่างใกล้ชิด รวมทั้งจัดการโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยจัดตั้งกลไกของการเฝ้าระวังและการเตือนภัยล่วงหน้า ร่วมกัน **************************************** 10 ธันวาคม 2550


   
   


View 15    10/12/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ