รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยมูลค่าการใช้ยาในไทยแต่ละปีสูงถึง 7.7 หมื่นล้านบาท โดยกว่าร้อยละ 50 เป็นยานำเข้าจากต่างประเทศ เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทยให้ทันแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้งคุมเข้มมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาที่ไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะยาปลอมตามแนวชายแดน มูลค่าในตลาดประมาณ 800 ล้านบาท เร่งแก้กฎหมายยา เพิ่มบทลงโทษหนักขึ้น ผู้ผลิต แรงกว่าเดิม 10-100 เท่าตัว จำคุก 3 ปีถึงตลอดชีวิต ส่วนผู้ขายหรือนำเข้า โทษจำคุก 1-20 ปี ปรับ 1 แสนถึง 2 ล้านบาท
เช้าวันนี้ (6 ธันวาคม 2550) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเภสัชกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ เพิ่มพูนวิทยาการ สานวิชาชีพเภสัชกรรม เพื่อประชาชน เพื่อให้เภสัชกรจากทั่วประเทศกว่า 500 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน และพัฒนาองค์ความรู้ด้านยา และเปิดนิทรรศการการแสดงเภสัชกรรม และเวชภัณฑ์เพื่อระบบสุขภาพของประเทศ จัดโดยเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับองค์กรเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม 12 องค์กร ระหว่างวันที่ 6-7 ธันวาคม 2550
นายแพทย์มรกตกล่าวว่า ยารักษาโรคมีความสำคัญต่อระบบสุขภาพของประเทศ การเจ็บป่วยประมาณร้อยละ 90 ต้องรักษาด้วยยา จำเป็นต้องมีการพัฒนาให้เท่าทันโรคภัยไข้เจ็บในปัจจุบัน ทั้งการพัฒนาตัวยาและพัฒนากลุ่มเภสัชกร ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบยาของประเทศ เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยา และปลอดภัยจากผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยา เนื่องจากมีมูลค่าในตลาดโลกกว่า 2,000 ล้านล้านบาท สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมยายังเติบโตค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันที่ได้ตามมาตรฐานจีเอ็มพีจำนวน 163 แห่ง โดยในไทยมีมูลค่าการใช้ยาในประเทศปีละเกือบ 8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นยาผลิตภายในประเทศ 3.7 หมื่นล้านบาท และนำเข้าจากต่างประเทศ 4 หมื่นล้านบาท จึงต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยาให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ รวมทั้งเร่งขยายตลาดส่งออกยาให้มากขึ้น นพ.มรกตกล่าว
นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า ที่น่าห่วงมากขณะนี้คือเรื่องยาปลอม องค์การอนามัยโลกระบุว่าร้อยละ 15 ของยาที่ผลิตออกจำหน่ายทั่วโลกอาจเป็นยาปลอม โดยพบว่ายาร้อยละ 50 ที่วางขายอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาเป็นยาปลอม โดยไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ที่มีปัญหาการระบาดของยาปลอม จากการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่ามูลค่าของยาปลอมในประเทศไทยมีน้อยกว่าร้อยละ 1 ของมูลค่ายาในประเทศหรือประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นยารักษาโรคมาลาเรีย เอดส์ วัณโรค ยารักษาหวัดนก และยาในกลุ่มที่มีราคาแพง เช่น ยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยาลดความอ้วน ซึ่งลักลอบนำมาขายในจังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดตามแนวชายแดน ส่วนมากผลิตมาจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน ยาปลอมเหล่านี้นอกจากจะเกิดการสูญเสียเงินทองแล้ว ยังรักษาโรคไม่ได้ผล และก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยาเกิดขึ้น เชื้อรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้ ที่ชัดเจนขณะนี้คือ โรคมาลาเรีย วัณโรค ตามแนวชายแดนไทย พบประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ จะต้องเร่งกวาดล้างปัญหาให้หมดไปโดยเร็วที่สุด
ด้านเภสัชกรหญิงวีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำลังปรับปรุงแก้ไขกฎหมายยาคือ พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาที่ไม่มีคุณภาพหรือยาปลอม โดยให้มีบทลงโทษผู้กระทำการฝ่าฝืนให้รุนแรงขึ้น ผู้ผลิตต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000-5,000,000 บาท ส่วนผู้ขายหรือนำเข้า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-2,000,000 บาท ซึ่งตามบทลงโทษเดิม ที่ใช้มากว่า 40 ปี ผู้ผลิตมีโทษจำคุกเท่ากัน แต่โทษปรับเพียง 10,000-50,000 บาท ส่วนผู้ขายหรือผู้นำเข้ามีโทษจำคุกเหมือนกันแต่โทษปรับถูกมากเพียง 2,000-10,000 บาท คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2551 นี้
นอกจากนี้ได้ให้ด่านอาหารและยา ที่กระจายอยู่ครอบคลุมตามแนวชายแดน 35 ด่าน ให้ความเข้มงวดกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ หากประชาชนพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป ทั้งนี้ อย. ยังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนคดีทางเศรษฐกิจ หน่วยงานอาหารและยาของประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาวและกัมพูชา ในการตรวจติดตามข้อมูล การตรวจสอบยาปลอม และแหล่งที่มา รวมถึงมีแผนจะทำรถตรวจสอบคุณภาพยาเคลื่อนที่ เพื่อทดสอบวิเคราะห์ยาว่ามีคุณภาพหรือเป็นยาปลอมได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะดำเนินการในปี 2551 เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ประชาชนทั่วไปที่ซื้อยามาใช้เอง ขอแนะนำให้เลือกซื้อจากร้านที่ได้มาตรฐาน มีเภสัชกรประจำอยู่ เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำอย่างละเอียด ป้องกันการใช้ยาผิด และผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย หรือเลือกซื้อที่ร้านขายยาคุณภาพ ที่สภาเภสัชกรรมให้การรับรองไปแล้ว 211 แห่งทั่วประเทศ พร้อมดูวันหมดอายุ บนฉลากยาให้รอบครอบ
******************************* 6 ธันวาคม 2550
View 13
06/12/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ