รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยันยาโอเซลทามิเวียร์ หรือทามิฟลู ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ขณะนี้ อยู่ในความควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่พบปัญหาผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ประสาทหลอน เหมือนที่พบในต่างประเทศ โดยยาดังกล่าวมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลภาครัฐ ไม่มีขายในร้านขายยาทั่วไป
จากกรณีที่บริษัทโรชคิงเอจี ผู้ผลิตยาโอเซลทามิเวียร์ หรือทามิฟลู ซึ่งเป็นยารักษาโรคไข้หวัดนก ได้ติดป้ายคำเตือนอันตรายของยาดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตามคำแนะนำของคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา เพิ่มเติมจากการระบุในฉลากยาว่า อาจทำให้เกิดอาการทางจิต เช่น การเพ้อ เห็นภาพหลอน จนกระทั่งทำร้ายตัวเอง โดยในข่าวดังกล่าวระบุข้อมูลว่า ที่ผ่านมามีผู้ป่วยใช้ยาทามิฟลูราว 48 ล้านคนทั่วโลก และมีรายงานเกิดความผิดปกติทางจิตหลังใช้ยา ประมาณ 600 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 75 เป็นชาวญี่ปุ่น และมีรายงานเด็กเสียชีวิต 5 คน จากอุบัติเหตุ เนื่องจากเห็นภาพหลอนนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาต้านไวรัสทามิฟลู ตามที่ระบุในข่าวดังกล่าวนั้น ยังไม่พบในประเทศไทย เนื่องจากในการใช้ยาทามิฟลูรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดนกนั้น จะอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และมีข้อบ่งใช้ตามอาการของผู้ป่วยอย่างชัดเจน โดยยาดังกล่าวมีใช้เฉพาะในสถานพยาบาลในภาครัฐ ไม่มีวางจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป จึงไม่มีปัญหาผลข้างเคียงใดๆ เกิดขึ้น จึงขอให้ประชาชนอย่าวิตกกับข่าวดังกล่าว โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยมีมาตรการควบคุมการใช้ยาอย่างรัดกุม โดยเฉพาะปัญหาการดื้อยา เนื่องจากขณะนี้ยังมียาทามิฟลูชนิดเดียว ที่รักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกได้ผลดีที่สุด
สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ที่อาจหวนกลับมาระบาดในช่วงฤดูหนาวนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้สร้างห้องแยกดูแลผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในโรงพยาบาลทุกแห่งแล้ว และเตรียมยาทามิฟลูไว้ประมาณ 5 แสนเม็ด พร้อมชุดทดสอบเชื้อภาคสนาม เพื่อตรวจสอบเชื้อเบื้องต้นประกอบการวินิจฉัยรักษาของแพทย์ ได้จัดส่งไปให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งแล้ว ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที
ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในรอบ 4 ปีนี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกทั้งหมด 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย โดยพบผู้ป่วยรายสุดท้ายในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2549 และผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยในหมู่บ้านโดยอาสาสมัครสาธารณสุข และการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคปอดบวมและโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอาการใกล้เคียงกับไข้หวัดนก โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วยตายผิดปกติ ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ตลอดปี 2550 ยังไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนช่วยกันระมัดระวังการเจ็บป่วยของสัตว์ปีก หากพบสัตว์ปีกมีอาการดังต่อไปนี้ คือ ยืนหรือเดินไม่ปกติ ขนยุ่งไม่เป็นระเบียบ หายใจลำบากหรือหายใจขัด อ่อนเพลีย ไม่กินอาหาร มีอาการบวมตามหัว หนังตา หงอน เหนียงหรือขา หงอนหรือเหนียงมีสีแดงคล้ำหรือม่วง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ตายอย่างกะทันหัน อย่าจับสัตว์ป่วยหรือตายด้วยมือเปล่า และห้ามนำมาชำแหละกินอย่างเด็ดขาด เนื่องจากการติดเชื้อจากสัตว์ปีกสู่คนจะเกิดขึ้นระหว่างชำแหละมากที่สุด ขอให้แจ้งอสม. หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที เพื่อการควบคุมป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่อไป
************************ 4 ธันวาคม 2550
View 11
04/12/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ