ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนนักท่องเที่ยว เที่ยวป่า กางเต๊นท์ท้าลมหนาวภาคเหนือ ระวังตัวไรอ่อนกัด ในร่มผ้า ป่วยเป็นโรคสครับไทฟัส หรือไข้รากสาดใหญ่ มีไข้ขึ้นสูง ปวดหัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่ขมับและหน้าผาก ปวดกระบอกตา แนะหลังกลับจากเที่ยวป่าภายใน 2 สัปดาห์ หากมีอาการเหล่านี้ ต้องพบแพทย์รักษาทันที และแจ้งประวัติเที่ยวป่าให้แพทย์ทราบ ชี้อันตรายโรคนี้หากรักษาช้า อาจเสียชีวิตได้ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศไทยเริ่มหนาวเย็นลง ประชาชนมักเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น สูดอากาศและชมความงามธรรมชาติกันมากขึ้น เรื่องที่จะต้องเตือนกันแต่เนิ่นๆ ก็คือการระมัดระวังตัวไรอ่อน (chigger) กัด ซึ่งมักเกิดขึ้นโดยบังเอิญ และทำให้เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ หรือสครับไทฟัส (Scrub typhus) ไรอ่อนนี้ จะอาศัยอยู่ในสัตว์รังโรคคือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู กระแต กระจ้อน เมื่อกัดคนจะปล่อยเชื้อที่เรียกว่า ริกเก็ตเซีย (Rickettsia) โรคสครับไทฟัส มีระยะฟักตัวประมาณ 6-21 วัน แต่โดยทั่วไปประมาณ 10-12 วัน โดยไร่อ่อนมักจะเข้าไปกัดบริเวณร่มผ้า เช่น อวัยวะสืบพันธุ์ ขาหนีบ เอว ลำตัวบริเวณใต้ราวนม รักแร้ และบริเวณคอ โรคนี้จะพบมากในช่วงฤดูฝนและต้นฤดูหนาว อาการที่สำคัญได้แก่ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงบริเวณขมับและหน้าผาก ตัวร้อนจัด มีไข้สูง 40-40.5 องศาเซลเซียส หนาวสั่น เพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดกระบอกตา มีอาการไอแห้งๆ ไต ตับ ม้ามโต และผู้ป่วยร้อยละ 30-40 จะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (eschar) ที่บริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด มีสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ โดยผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20-50 อาจจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ การอักเสบที่ปอด สมอง ในรายที่อาการรุนแรง อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วมาก ความดันโลหิตต่ำ อาจถึงขั้นช็อค เสียชีวิตได้ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า พื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคสครับไทฟัสมากที่สุดได้แก่ ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันอกเฉียงเหนือ บริเวณที่มีตัวไรชุกชุมได้แก่ บริเวณป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่ หรือตั้งรกรากใหม่ หรือพื้นที่ทุ่งหญ้าชายป่า หรือบริเวณมีต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มียารักษาให้หายได้ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนที่จะไปท่องเที่ยว ตั้งแค้มป์ไฟ กางเต๊นท์นอนในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก ควรใส่รองเท้า ถุงเท้า ที่หุ้มปลายขากางเกงไว้ และเหน็บชายเสื้อเข้าในกางเกง ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ ใช้ยาทากันแมลงกัด ตามแขนขา แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในรายที่ผิวหนังมีรอยถลอกหรือมีแผล และไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ เพราะเด็กอาจเผลอขยี้ตาหรือหยิบจับอาหารและสิ่งของใส่ปาก ทำให้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย เป็นอันตรายได้ การทาครั้งหนึ่งจะออกฤทธิ์นาน 4 ชั่วโมง หลังออกจากป่า ให้อาบน้ำให้สะอาด พร้อมนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดทันที เพราะตัวไรอาจติดมากับเสื้อผ้าได้ ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตัวไรอ่อนมีขนาดเท่าปลายเข็มหมุด มีสีส้มอมแดง มองเห็นด้วยตาเปล่า อาศัยอยู่ตามพื้นดิน บริเวณที่ชุ่มชื้น มีใบไม้ ใบหญ้า ปกคลุม ไรอ่อนจะต้องกินน้ำเลี้ยงเซลล์ของสัตว์หรือคน จึงจะเจริญเติบโตเป็นไรแก่ ในปี 2550 นี้ ตั้งเดือนมกราคม จนถึงสิ้นเดือนกันยายน ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส จำนวน 2,449 ราย ไม่มีเสียชีวิต ภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดได้แก่ ภาคเหนือ 1,313 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นจังหวัดที่มีป่าเขา รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 549 ราย ภาคใต้ 438 ราย และภาคกลาง 149 ราย ในขณะที่ปี พ.ศ. 2548 มีผู้ป่วย 2,928 ราย เสียชีวิต 4 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 76 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลชุมชน รองลงมาได้แก่ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยนอก ร้อยละ 58 ผู้ป่วยใน ร้อยละ 42 โดยผู้ป่วยเกือบร้อยละ 90 อาศัยในเขตชนบท นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อว่า ขอแนะนำประชาชนที่หลังกลับออกจากเที่ยวป่า หรือกางเต๊นท์นอนตามพื้นหญ้าในช่วงฤดูหนาว หากป่วย มีไข้ขึ้นสูง มีอาการปวดศีรษะภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าให้แพทย์ทราบทันทีด้วย เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว เพราะหากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ ********************************************* 2 ธันวาคม 2550


   
   


View 10    02/12/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ