“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 370 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนคนไทย ร่วมมือร่วมใจ ฉลองเทศกาลสงกรานต์อย่างสุขใจ ให้ปลอดภัย ลดการบาดเจ็บจากการจราจร เข้มมาตรการตรวจจับตรวจเตือน ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” โทร 1669 ฟรี 24 ชั่วโมง
วันนี้ (4 เมษายน 2561) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พลตำรวจตรีธนชาติ รอดคลองตัน ผู้บังคับการกองแผนงานกิจการพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผอ.กองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลงข่าว “ร่วมมือร่วมใจ สุขใจเทศกาลสงกรานต์” ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2561
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ตลอดช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้เป็น “สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ชีวาปลอดภัย” กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้มข้นมาตรการด้านการป้องกัน ลดการบาดเจ็บจากการจราจร บูรณาการการทำงานร่วมกันตามแนวทางของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” สร้างความตระหนัก รับรู้ และกระตุ้นเตือนให้ประชาชนใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสสส. สนับสนุน ผลักดัน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักเรื่องของการดื่มแล้วขับ ตามโครงการดื่มแล้วขับจับตรวจแอลกอฮอล์ โดยเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่าการบาดเจ็บและเสียชีวิตลง แต่ยังพบการดื่มแล้วขับสูง โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนถึงร้อยละ 20 ส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์ และไม่สวมหมวกนิรภัย จึงต้องเข้มข้นมาตรการนี้ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ให้ตรวจจับตรวจเตือนตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตรวจและเตือนกลุ่มเสี่ยง ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน ร่วมมือกับประชาคมตั้งด่านชุมชนด้วย
สำหรับความพร้อมของสถานบริการสาธารณสุข ได้เตรียมหน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอย่างรวดเร็ว ลดความพิการ และการเสียชีวิต ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ (UCEP) ซึ่งครบ 1 ปีในวันที่ 31 มีนาคม 2561 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต 15,950 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Non Trauma จำนวน 14,116 ราย คิดเป็นร้อยละ 89 มาโรงพยาบาลโดยญาติมาส่ง ร้อยละ 72 และโดยระบบ EMS ร้อยละ 19
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการ (EOC) ที่ส่วนกลางและทุกจังหวัดตลอดช่วง 7 วัน ให้บูรณาการการทำงานร่วมกับ ศปถ.จังหวัด เข้มข้นในอำเภอเสี่ยง 199 อำเภอ/เขต และให้โรงพยาบาลทุกแห่งตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่เจ้าพนักงานตำรวจร้องขอหรือส่งตัวมาทุกราย รวมทั้งให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ระบบการรับและส่งต่อ ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอซียู สำรองเลือด ออกซิเจน อุปกรณ์การแพทย์ และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
โดยมีทีมแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ 14,492 หน่วย ประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการระดับสูง 2,617 หน่วย หน่วยปฏิบัติการระดับพื้นฐาน 2,008 หน่วย และหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น 9,871 หน่วย มีแพทย์ พยาบาล และหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น จำนวน 165,158 คน เจ้าหน้าที่ทีมศัลยแพทย์ 1,500 คน เรือปฏิบัติการฉุกเฉิน 155 ลำ เครื่องบิน 129 ลำ พร้อมให้โรงพยาบาลบนเส้นทางหลวงจัดหน่วยปฏิบัติการระดับสูงหรือระดับพื้นฐานประจำเส้นทางหลวง หากประชาชนประสบเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือได้ที่ หมายเลข 1669
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 และเขตเมือง ร่วมกับพื้นที่ ในช่วงก่อนเทศกาลให้ตรวจเตือนและประชาสัมพันธ์ ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทั้งการห้ามขายบนทาง ห้ามดื่มบนรถในขณะขับขี่หรือโดยสาร ห้ามขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด ห้ามขายให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และในช่วงเทศกาล 7 วันจะดำเนินการตรวจจับอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเสี่ยง 199 อำเภอ และให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดทีมออกสุ่มตรวจ
ทั้งนี้ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 แม้ว่าจำนวนการเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มขึ้น แต่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บลดลง มีผู้บาดเจ็บนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 4,141 ราย การบาดเจ็บ/เสียชีวิตจะสูงสุดในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 21 การเสียชีวิตสูงสุดเกิดในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ถนนที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ ถนนทางหลวง และถนนที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุดคือ ถนน อบต./หมู่บ้าน มากที่สุดในช่วง 15.00 – 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำหน่ายสุราได้ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับร้อยละ 43 พบเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีที่บาดเจ็บและเสียชีวิต มีการดื่มสุรา 1,669 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของผู้ดื่มสุราทั้งหมด
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้สนับสนุนการจัด Zoning พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้าปลอดภัย ในปี 2560 มีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ามากถึง 3,241 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ เป็นพื้นที่ที่สสส.สนับสนุนเพียง 150 แห่ง ถือเป็นความสำเร็จที่ได้สร้างความร่วมมือแก้ปัญหาร่วมกัน ในปี 2561 สสส. มุ่งขยายการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน จัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น เพื่อปกป้องเยาวชนไม่ให้เป็นนักดื่มหน้าใหม่ และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลลง ทั้งนี้ สสส. ยังได้เผยแพร่โฆษณาชุด “สงกรานต์ กลับบ้านปลอดภัย ลดสถิติช่วงสงกรานต์” กระตุ้นเตือนการขับขี่ปลอดภัย เพราะอุบัติเหตุเป็นความสูญเสียที่สามารถป้องกันได้ หากไม่ประมาทและมีวินัยจราจร ดื่มไม่ขับ ไม่ใช้ความเร็ว สวมหมวกนิรภัย และคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ก่อนขับรถทางไกลทุกครั้ง ผู้ขับควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เตรียมผ้าเย็นเวลาง่วง และสวมแว่นตากันแดดขณะขับรถ ควรเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง เพราะการกินคาร์โบไฮเดรตมื้อใหญ่ในปริมาณมาก เป็นเหตุให้เลือดไหลหมุนเวียนไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกายน้อยลง โดยเฉพาะสมอง ทำให้รู้สึกง่วงซึม เฉื่อยชา นอกจากนี้ควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเลือกกินผลไม้ที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม เพราะจะช่วยต้านความเหนื่อยล้าขณะขับรถ หรือแอปเปิ้ล กล้วย สับปะรด ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย บรรเทาความง่วงได้ดี หากรู้สึกเมื่อยล้าให้หยุดพัก และยืดเหยียดกล้ามเนื้อช่วย 6 ท่าง่าย ๆ คือ ท่าที่ 1 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อปลายแขนด้านหน้า ท่าที่ 2 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อปลายแขนด้านหลัง ท่าที่ 3 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อคอ บ่าและไหล่ ท่าที่ 4 บริหารหัวไหล่ ท่าที่ 5 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังและลำตัว และท่าที่ 6 บริหารเท้า
ด้านเรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาผลการดำเนินงานการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” พบว่าผู้ป่วยเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประสบผลสำเร็จของการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล โดยกลุ่มอาการของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ กลุ่มอาการหายใจลำบาก/ติดขัด กลุ่มอาการเจ็บแน่นทรวงอก/หัวใจ/มีปัญหาทางด้านหัวใจ กลุ่มอาการอัมพาต (กำลังกล้ามเนื้ออ่อนแรง) เฉียบพลัน กลุ่มอาการไม่รู้สติ/ไม่ตอบสนอง/หมดสติชั่ววูบ และกลุ่มอาการหัวใจหยุดเต้น ประชาชนสามารถดาวน์โหลด app.1669 เพื่อใช้เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งระบุพิกัดที่ตั้งของจุดเกิดเหตุ ให้ศูนย์สั่งการ 1669 ทราบ หรือโทรสายด่วน 1669
ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การขับรถทางไกล ขอให้เตรียมพกพา 4 สมุนไพร เช่น ยาหอมอินทจักร์ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขยายหลอดเลือดขนาดเล็กในสมอง ทำให้สดชื่น คลายง่วง ยาดมสมุนไพร ใช้สูดดมบรรเทาอาการวิงเวียน ช่วยให้สดชื่น ยาหม่องไพล/น้ำมันไพล คลายกล้ามเนื้อ บรรเทาปวดเมื่อย กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต และยาเหลืองปิดสมุทร บรรเทาอาการท้องเสีย นอกจากนี้ แนะนำให้ดื่มน้ำมะนาว มะขาม กระเจี๊ยบเพิ่มความสดชื่น และน้ำสมุนไพรคลายร้อน เช่น น้ำบัวบก น้ำตรีผลา น้ำเก็กฮวย น้ำใบเตย น้ำฝาง เป็นต้น
*********************************************** 4 เมษายน 2561